วันอาทิตย์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

การเลือกตั้งครั้งใหม่ของตุรกี กับชัยชนะอีกครั้งของ AK Party

ยาสมิน ซัตตาร์

ผลการเลือกตั้งครั้งใหม่ของตุรกีเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 ปรากฏว่า ชัยชนะของพรรคยุติธรรมพัฒนาหรือพรรคอัคก็กลับมาได้ชัยชนะด้วยเสียงจำนวนมากเกิดความคาดหมายอีกครั้งด้วยจำนวน 316 ที่นั่ง คิดเป็น 49.41% (จากผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการหลังจากนับผลไปแล้วประมาณ 99%)  หลังจากที่ได้เสียหลักไปเมื่อการเลือกตั้งในวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งได้รับเสียง  258 เสียง ส่งผลให้พรรคอัคไม่สามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ โดยที่การตั้งพรรครัฐบาลเดียวจะต้องได้รับเสียงอย่างน้อย 276 เสียงขึ้นไป



หัวหน้าพรรคอัคได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลชั่วคราวจากประธานาธิบดี และตามกฎหมายจะต้องจัดตั้งรัฐบาลหลังจากเลือกตั้ง 45 วัน จึงได้มีการเจรจาต่อรองกับพรรคอีกสามพรรคใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น CHP MHP หรือ HDP แต่ผลของการเจรจาก็ไม่สามารถนำไปสู่ข้อตกลงในการร่วมกันตั้งรัฐบาลผสมได้ แม้ว่าในเชิงหลักการแล้วการมีรัฐบาลหลายพรรคจะมีแนวโน้มทำให้เกิดสภาวะของการคานอำนาจและมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่เนื่องจากอุดมการณ์ที่ต่างกันมากของทุกพรรคในตุรกีและประสบการณ์ที่ไม่มั่นคงในช่วงรัฐบาลหลายพรรคก็ไม่สามารถทำให้การตั้งรัฐบาลเป็นจริงได้   ภายหลังจากนั้นประธานาธิบดีแอรโดอานก็ประกาศตัดสินใจว่ากำหนดการเลือกตั้งใหม่  ซึ่งก็ได้กำหนดเป็นวันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งนับได้ว่าเป็นการเรียกร้องการเลือกตั้งใหม่ครั้งที่ 7 ในประวัติศาสตร์การเมืองแบบหลายพรรคของตุรกี
แม้ว่าการเลือกตั้งใหม่จะเป็นที่ถกเถียงไม่น้อยว่าแอรโดอานดูเหมือนว่าใช้อำนาจของประธานาธิบดีในการตัดสินใจที่ไม่ได้สอดคล้องกับเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญที่น่าจะใช้วิธีการเชิญหัวหน้าพรรค CHP มาร่วมพรรครัฐบาลและเร่งรีบให้มีการเลือกตั้งใหม่เกินไปก็ตาม แต่การเลือกตั้งใหม่ก็เป็นตัวเลือกแรกๆในการเป็นทางออกทางการเมืองของตุรกีนับตั้งแต่หลังจากผลการเลือกตั้งออกมา 
ผลการเลือกตั้งครั้งใหม่นี้ทำให้พรรคอัคสามารถครองอำนาจเป็นรัฐบาลพรรคเดียวอีกครั้ง เป็นสมัยที่ 4 ติดต่อกันเป็นเวลา 13 ปี ในขณะที่การเลือกตั้งครั้งใหม่นี้ เสียงของ พรรค MHP และพรรค HDP ได้ลดลงจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาอยู่พอควร  ส่วนพรรคฝ่ายค้านหลักจาก CHP ก็ได้รับเสียงเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อย
สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งของการเลือกตั้งครั้งใหม่นี้ คือ จำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ที่คาดการณ์กันไว้ว่าจะลดลง เนื่องจากประชาชนอาจรู้สึกเบื่อกับการเลือกตั้ง ผลกลับชี้ให้เห็นว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิการเลือกตั้งครั้งนี้อยู่ที่ 85.46% (จำนวนจากผลอย่างไม่เป็นทางการ 99%) ซึ่งเพิ่มมาจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนมิถุนายนที่มีจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งอยู่ที่ 83.92%






ก่อนจะมาถึงการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน

ในช่วงเวลาก่อนที่จะมาสู่การเลือกตั้งในครั้งนี้ มีเหตุการณ์ที่น่าสนใจเกิดขึ้นมากมายที่น่าจะเป็นปัจจัยต่อผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการไม่เข้าร่วมในการเลือกตั้งของบางพรรคการเมืองเล็กๆ ที่มองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นเกมส์ที่ประธานาธิบดีแอรโดอานวางเอาไว้
การปรับเปลี่ยนท่าทีของพรรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพรรคอัคที่นำเอาผู้สมัครน้ำดีของพรรคที่ไม่สามารถลงเลือกตั้งได้ในครั้งที่แล้วกลับมาอีกครั้ง นำเอาตัวแทนพรรคที่มีประวัติไม่ดีออก และยังได้ตัวแทนจากพรรค MHP ซึ่งเป็นลูกชายของผู้ก่อตั้งพรรค MHP เองย้ายเข้ามาอยู่ในพรรคอีกด้วย นอกจากนั้นยังเพิ่มฐานเสียงจากสายอิสลามิสต์ในประเทศ ที่เป็นสายของพรรค SAADET บางส่วนให้มาสู่พรรคอัคให้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ใช้นโยบายที่เน้นประชาชนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการว่างงาน ฟรีอินเตอร์เนตสำหรับเยาวชน ให้สถานะทางกฎหมายกับชาวอลาวี หรือการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เป็นต้น (พรรคอัคใช้สโลแกน “Haydi Bismillah” (Come on, Bismillah) ในช่วงแรก รวมไปถึงเพลงของการหาเสียง แต่ถูกแบนเนื่องจากเป็นสโลแกนที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ขัดกับความเป็นรัฐเซคิวล่าร์ของสาธารณรัฐตุรกี) ขณะที่พรรค CHP ก็มีการปรับนโยบายที่เน้นกลุ่มเยาวชนมากขึ้น เช่นเดียวกับพรรคอัค เนื่องจากการเลือกตั้งในครั้งก่อนทั้งสองพรรคไม่ได้รับเสียงจากกลุ่มเยาวชนมากนัก
สิ่งที่เป็นประเด็นน่าสนใจอีกประการ คือ ในช่วงระหว่างการเลือกตั้งครั้งก่อนถึงครั้งนี้ ปรากฏว่า ตุรกีได้เผชิญกับเหตุการณ์รุนแรง ถึงสองครั้งใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ระเบิดที่เมืองซูรุช ซึ่งภายหลังจากนั้น รัฐบาลก็ใช้เป็นเหตุผลในการอ้างความชอบธรรมในการใช้กำลังจัดการกับทั้งกลุ่มไอซิซและกลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ด PKK ที่คาดว่าเป็นผู้ก่อเหตุในครั้งนี้ และภายหลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์ระเบิดที่เมืองอังการ่าซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากเป็นประวัติการณ์ ความไม่มั่นคงภายในนี้เองที่ทำให้ความน่าเชื่อถือของพรรคชาวเคิร์ดลงลง รวมไปถึงความต้องการของประชาชนในเกิดความมั่นคงทางการเมืองเพื่อรักษาความปลอดภัยภายในเอาไว้มากขึ้น 
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ท่าทีของรัฐบาลที่แข็งกร้าวขึ้นต่อกลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ด ที่รัฐบาลเปลี่ยนจากการพูดคุย เป็นการจับกุม กวาดล้างผู้ที่เป็นสมาชิก แน่นอนว่าเพื่อหวังที่จะได้รับเสียงมากขึ้นจากกลุ่มชาตินิยมเติร์กที่ไม่พอใจและหันไปลงคะแนนให้กับพรรค MHP และการเพิ่มจำนวนเสียงของพรรค HDP ซึ่งเป็นพรรคชาวเคิร์ด ก็ส่งผลให้รัฐบาลเปลี่ยนมาตรการกับพื้นที่ รวมไปถึงการออกเคอร์ฟิวในเมือง Cizre  ภายหลังจากการเลือกตั้งไม่นาน ขณะเดียวกัน ท่าทีสนับสนุนของกลุ่มติดอาวุธ PKK ของพรรค HDP ก็ยังคงปรากฏในหลายครั้ง แม้ว่าจะมีการออกมาปฏิเสธและเรียกร้องให้มีการดำเนินกระบวนการสันติภาพต่อไป และให้ PKK วางอาวุธ
ขณะเดียวกันก็มีประเด็นที่รัฐบาลควบคุมเสรีภาพของสื่อหลังจากการเลือกตั้งที่ผ่านมามากขึ้น ก็ส่งผลให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์จากต่างประเทศจำนวนไม่น้อย ความน่าเชื่อถือที่ลดลงของกลุ่มกุลเลนก็เป็นอีกปัจจัยทีส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในผลการเลือกตั้งครั้งนี้ 
อย่างไรก็ตาม สภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในช่วงเวลาที่ผ่านมาก็เป็นปัจจัยสนับสนุนต่อผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ไม่น้อยทีเดียว 

ชัยชนะกับข้อท้าทาย

แน่นอนว่าชัยขนะครั้งนี้ได้สะท้อนความต้องการของประชาชนที่อยากจะเห็นความเสถียรภาพทางการเมืองและการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศต่อไปเป็นหลัก และไม่ต้องการให้มีการแทรกแซงของทหารเข้ามาสู่การเมืองดังเช่นประสบการณ์ในอดีตที่เคยมีการตั้งรัฐบาลผสมขึ้นแล้วเป็นช่องโหว่ของสังคมที่ขัดแย้งให้ทหารเข้ามาแสดงบทบาท ขณะเดียวกันก็เห็นถึงแนวโน้มของการปรับการเดินเกมส์ของพรรคอัคให้ระมัดระวังมากยิ่งขึ้น ไม่ผลีผลามในการเสนอในสิ่งที่สังคมตุรกีอาจจะยังไม่พร้อมทีจะรับ รวมไปถึงยังสะท้อนให้พรรค HDP ได้เห็นว่าไม่ว่าอย่างไรหากเคิร์ดยังคงใช้ความรุนแรง ชาวตุรกีก็จะไม่สนับสนุน  
อย่างไรก็ตามชัยชนะของพรรคอัคในครั้งนี้มีแนวโน้มที่อาจจะนำไปสู่ข้อท้าทายที่ต้องเผชิญอยู่หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้อวิพากษ์ต่อการอยู่ต่อเนื่องยาวนานในอำนาจที่อาจนำไปสู่การใช้อำนาจเชิงเผด็จการ หรือความพยายามของประธานาธิบดีแอรโดอานในการเล่นเกมส์ทางการเมืองที่จะให้ได้อำนาจต่อไป ตลอดจนแรงกดดันจากข้อวิพากษ์จากตะวันตกที่แน่นอนว่าจะต้องนำไปสู่จุดที่กล่าวถึง ความเผด็จการของพรรคอัคที่มากขึ้น แม้จะเป็นอำนาจที่มาจากผลการเลือกตั้ง แต่ด้วยกับแนวคิดหลักของพรรคที่ถูกให้คำจัดความว่าเป็นพรรคอิสลามมิสต์ ก็ยังคงเป็นที่จับตามองและถูกวิพากษ์ต่อไป
ขณะเดียวกันก็อาจต้องพิจารณาถึงนโยบายต่อกระบวนการสันติภาพเติร์ก-เคิร์ดและกลุ่มติดอาวุธ PKK ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลได้หันมาใช้วิธีการปราบปรามแทนการใช้การพูดคุย จนทำให้เสียงจากชาวตุรกีชาตินิยมหันกลับมามากขึ้น โดยพิจารณาจากเสียงที่ลดลงของพรรค MHP นโยบายต่อกระบวนการสันติภาพนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป และแนวทางของกลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ดก็อาจต้องพิจารณาถึงความคุ้มได้คุ้มเสียในการยังคงใช้อาวุธต่อไปในบริบททางการเมืองเช่นนี้ เนื่องจากหลายครั้งที่พรรค HDP ไม่มีจุดยืนในการต่อต้านการใช้ความรุนแรงของกลุ่ม PKK ในช่วงก่อนการเลือกตั้งก็อาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เสียงของ HDP ลดลงไปในครั้งนี้
การเผชิญหน้ากับไอซิซ ที่ตุรกีกำลังใช้นโยบายทางทหารในการตอบโต้ ก็เป็นอีกข้อท้าทายสำหรับการตัดสินใจต่อไปข้างหน้าของพรรคอัคเช่นเดียวกัน ว่าจะยังคงร่วมมือต่อไปหรือไม่ รวมไปถึงประเด็นการจัดการต่อปัญหาผู้ลี้ภัยซีเรีย ที่ยุโรปได้สนับสนุนงบประมาณจำนวนหนึ่งพร้อมกับให้ตุรกีเป็นผู้นำในการจัดการกับปัญหา 
เศรษฐกิจที่ถดถอยในช่วงที่ผ่านมา เพราะความไม่มั่นคงทางการเมืองภายในและภายนอกประเทศ ก็เป็นอีกข้อท้าทายสำคัญต่อการพิสูจน์ตัวเองต่อไปในอำนาจของพรรคอัคว่าจะทำให้ตุรกีฟื้นฟูจากสภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งนี้ได้หรือไม่
เหล่านี้ล้วนยังคงเป็นข้อท้าทายส่วนหนึ่งที่ของรัฐบาลใหม่ตุรกีชุดนี้ที่จะต้องเผชิญต่อไปในอีก 4 ปีข้างหน้านี้ และสิ่งที่น่าสนใจที่ต้องติดตามต่อไปว่าพรรคอัคจะใช้นโยบายอะไรในการเริ่มต้นใหม่ครั้งนี้ 

แต่แน่นอนว่าชัยชนะครั้งนี้ก็เป็นข่าวดีสำหรับใครหลายคนพอสมควร ไม่ว่าจะกลุ่มอิสลามิสต์ในประเทศหรือกลุ่มประเทศอื่นๆที่ตุรกีเข้าไปมีบทบาท และการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ทำให้อิสลามการเมืองของตุรกียังคงก้าวเดินต่อไป 


วันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2558

บทสะท้อนต่อกรณีผู้ต้องสงสัยคดีระเบิดกับความสัมพันธ์ไทย-ตุรกี


หลังจากเกิดเหตุการณ์ระเบิดที่ราชประสงค์เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 58 ที่ผ่านมา ก็มีกระแสที่ออกมาและพยายามเชื่อมโยงผู้ต้องสงสัยให้เกี่ยวโยงกับ ตุรกี นับตั้งแต่การพาดหัวข่าวว่า “แขกขาว” หรือ แม้แต่การเจาะจงว่าเป็น “ชาวตุรกี” เอง โดยที่อ้างว่าเนื่องจากมีความเชื่อมโยงกับการส่งตัวชาวอุยกูร จำนวน 109 คน ไปจีน กระทั่งมีนักวิชาการไทยหลายท่านที่ออกมาคัดค้าน และมองว่าไม่น่าจะมีส่วนเชื่อมโยงต่อชาวอุยกูร และสิ่งที่สื่อยังขาดความเข้าใจคือ ความต่างของชาวตุรกี กับ ชาวอุยกุร (ซึ่งผู้เขียนได้เขียนไว้คร่าวๆ ในบทความครั้งก่อนหน้านี้แล้ว) แล้วสื่อความออกไปให้เป็นที่เข้าใจว่า ชาวตุรกีอาจเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์
ต่อมาทางสถานทูตตุรกีในไทยได้ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์และย้ำจุดยืนในการต่อต้านการก่อการร้ายที่ชัดเจนของตุรกี ประกอบกับพร้อมให้ความช่วยเหลือในการจับกุมหากเป็นชาวตุรกีจริง
หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 58 ก็ปรากฏข่าวว่าได้จับกุมผู้ต้องสงสัยในคดีนี้ไว้ได้แล้ว ก่อนหน้าที่จะมีการระบุชนชาติแน่ชัด ข่าวบางสื่อก็ได้ระบุไปชัดว่าเป็นชาวตุรกี ซึ่งต่อมาก็ปรากฏรายละเอียดของข่าวมากขึ้นว่าได้มีการจับกุมผู้ต้องสงสัย พร้อมกับเครื่องมือประกอบระเบิด รวมถึงหนังสือเดินทางจำนวนหนึ่ง และเมื่อตรวจสอบหนังสือเดินทางของชาวต่างชาติที่ถูกจับกุม ก็พบว่าเป็นหนังสือเดินทางที่อ้างว่าเป็นของตุรกี แต่มีจุดที่ผิดไม่ว่าจะเป็นสถานที่เกิด ที่สะกดชื่อเมืองผิด ไปจนถึงการแปลคำว่าวันที่ออกหนังสือเดินทางในภาษาอังกฤษผิด จึงได้ข้อสรุปว่าเป็นหนังสือเดินทางปลอม นอกจากนั้นก็ยังพบหนังสือเดินทางอีกหลายเล่มในห้องด้วยเช่นกัน
ในกรณีนี้ ทางการตุรกีได้แจ้งผ่านสำนักข่าว Anadolu Agency ว่าได้แจ้งเรื่องต่อทางการไทยในความประสงค์ที่จะดำเนินการเรื่องการใช้หนังสือเดินทางปลอมของตุรกีแล้ว
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ซึ่งได้มีการประกาศออกไปว่าผู้ต้องสงสัยเป็นชาวตุรกี โดยที่ยังไม่มีหลักฐานนั้น สำนักข่าวเดียวกันข้างต้นได้รายงานว่าจากแหล่งข่าวทางการทูตตุรกีได้ระบุว่า ภายหลังจากความพยายามในการใช้ช่องทางทางการทูตเพื่อตรวจสอบเรื่องดังกล่าวก็ไม่ได้รับการตอบรับใดๆ ซึ่งก็ได้พยายามในการเรียกร้องความช่วยเหลือจากตำรวจสากลในการเข้าถึงการตรวจสอบครั้งนี้
ในวันที่ 30 สิงหาคม 58 ก็ปรากฏข่าวจากทางตำรวจไทยว่า น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับลักลอบเข้าประเทศ ที่ทำกันเป็นเครือข่าย มากกว่าการก่อการร้ายสากล และการวิพากษ์อีกหลายฝ่ายก็เห็นว่าอาจเป็นประเด็นการเมืองภายในเองก็อาจเป็นไปได้
สิ่งที่ไทยกำลังถูกตั้งคำถามคือการปล่อยภาพที่เป็นภาพผู้ต้องสงสัย ซึ่งโดยหลักการแล้วจะต้องเป็นที่ปกปิด ตลอดจนการเปิดเผยหนังสือเดินทางนั้นก็มีการอ้างว่าเป็นภาพที่มาจากโพสหนึ่งในบล็อคที่สหรัฐฯ เมื่อเดือนมีนาคม 2013
สิ่งที่น่าสนใจจากกรณีนี้ คือ
1. ในเบื้องต้น ตามหลักการระหว่างประเทศโดยทั่วไปแล้วจำเป็นต้องอยู่บนสมมติฐานที่มีความบริสุทธิ์ก่อน มากกว่าจะตัดสินตั้งแต่ต้นโดยที่ยังไม่มีหลักฐานใดๆ มายืนยันประกอบ ซึ่งหากมีการตัดสินโดยปราศจากหลักฐานและปรากฏว่าผลที่ออกมาไม่ใช่แล้ว ก็อาจส่งผลต่อความขัดแย้งระหว่างประเทศได้
2. การรายงานข่าวที่ไม่ระมัดระวัง อาจส่งผลให้เกิดปัญหาต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ไม่น้อย จะเห็นได้จากข่าวของสำนักข่าวตุรกี ที่สะท้อนให้เห็นว่า มีความไม่พอใจต่อสำนักข่าวบางสำนักที่มีการตัดสินก่อนแล้ว และไม่ระมัดระวัง ในขณะที่ข่าวของสำนักข่าวตุรกีเองนั้น จะเห็นได้ว่ามีการแก้ไขเนื้อหาของข่าวเมื่อได้รับผลจากสำนักงานตำรวจไทย และมีความระมัดระวังในการนำเสนอข่าวมากขึ้น ขณะเดียวกัน การเผยแพร่ภาพของผู้ต้องสงสัยก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรทำตามหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเช่นกัน จึงเกิดเป็นข้อวิพากษ์ในวงกว้างต่อประเด็นนี้
3. สังคมไทยยังเข้าใจตุรกีอยู่น้อย และอาจถึงขั้นมีภาพลักษณ์ในแง่ลบต่อประเทศนี้ จึงทำให้เชื่อในข่าวได้อย่างง่าย และยังตั้งคำถามน้อย ในขณะเดียวกันสังคมตุรกีก็ยังเข้าใจไทยน้อย และไทยเองก็อาจมีภาพลักษณ์ที่ไม่ดีนักต่อตุรกีในช่วงหลังนี้ จึงทำให้การทำความเข้าใจร่วมกันในประเด็น เช่น ปัญหาของชาวอุยกูร ที่จะนำไปสู่ความร่วมมือต่อกัน ยังต้องทำความเข้าใจต่อกันอีกค่อนข้างมาก
อย่างไรก็ดี เหตุการณ์นี้แม้จะทำให้เกิดความหมองใจอยู่บ้าง แต่ก็อาจมองว่ายังไม่ได้กระทบความสัมพันธ์ระหว่างไทยและตุรกีมากนัก อาจด้วยกับตุรกีเองก็ยังคงเน้นไปที่การจัดการปัญหาการเมืองภายในและประเทศเพื่อนบ้านอยู่ หรือไทยเองก็ปรับตัวต่อเหตุการณ์ค่อนข้างเร็ว จากการที่หลายช่องทางหันมาใช้คำว่า ต่างชาติที่ไม่ระบุสัญชาติแทน แต่ก็ยังจำเป็นที่จะต้องติดตามต่อไปว่า จากผู้ต้องสงสัยนี้จะกลายเป็นผู้ต้องหาหรือไม่? และจะเป็นผู้ต้องหา “จริง” หรือเป็นเพียงแค่การจัดฉากขึ้นมา ก็ต้องอาศัยข้อมูลอีกหลายอย่างประกอบต่อไป

วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ความขัดแย้งตุรกี-ไอซิส: กรกฎาคม 2015 กับภาวะตึงเครียด ณ ชายแดน


ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา นับตั้งแต่การประกาศก่อตั้ง Islamic State of Iraq and Greater Syria หรือ ISIS  ขึ้นมา ก็มีข้อสงสัยมากมายจากหลายฝ่ายต่อองค์กรนี้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เห็นชัดคือ การปฏิบัติการที่สร้างความกลัวให้เกิดทั่วโลก ด้วยการยกเอาศาสนามาเป็นข้ออ้างในการก่อความรุนแรง ซึ่งก่อนหน้านี้มีหลายฝ่ายพยายามเชื่อมโยงว่าตุรกีมีความสัมพันธ์ที่ดีและอาจช่วยเหลือกลุ่มไอซิส เนื่องจากเห็นว่าตุรกีแสดงจุดยืนคัดค้านบัชชารและให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ชาวซีเรียที่ได้รับผลกระทบจากกลุ่มของบัชชารมาอย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่าข้อกล่าวหานี้ได้รับการปฏิเสธจากรัฐบาลตุรกีในการแสดงจุดยืนต่อต้านการก่อการร้ายทุกรูปแบบเสมอมา แม้ว่ามีข้อมูลที่ชัดเจนสิ่งหนึ่งว่า ตุรกีเป็นจุดเชื่อมต่อของผู้ที่ต้องการเดินทางเข้าสู่ซีเรียเพื่อร่วมกับไอซิซ  อย่างไรก็ดี ด้วยกับภูมิรัฐศาสตร์ที่อยู่ใกล้เคียงทำให้หากปฏิบัติการใดลงไปแล้วก็จะเกิดความเสี่ยงต่อการถูกโจมตี หรือ การเผชิญหน้ากันด้วยความรุนแรง การดำเนินนโยบายของตุรกีต่อไอซิสนั้นจึงต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวัง  ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลตุรกีเองก็เริ่มมีนโยบายในการต่อต้านไอซิสชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะการปิดเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับไอซิสทั้งหมด ขณะเดียวกันไอซิสเองก็โจมตีรัฐบาลตุรกี ผ่านสื่อนิตยสารของกลุ่ม โดยระบุว่ารัฐบาลตุรกีนั้นให้ความช่วยเหลือกับเคิร์ดและมีแนวทางในแบบตะวันตก
แม้ว่าตลอดช่วงเวลาที่เกิดความไม่สงบในซีเรียก็มีความตึงเครียดกัน ณ บริเวณชายแดนอยู่ตลอดมา แต่เหตุการณ์เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ในกรณีสุสานสุไลมานชาห์ นับเป็นครั้งแรกที่ตุรกีเริ่มแสดงทีท่าอย่างชัดเจนในการต้านไอซิส เมื่อสุสานที่มีธงชาติตุรกีปักอยู่ ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่อาณาเขตหนึ่งของตุรกีที่อยู่ในพื้นที่ซีเรีย ได้มีความเสี่ยงต่อการคุกคาม ทำให้ตุรกีตัดสินใจเคลื่อนทหารเข้าไปปฏิบัติการเคลื่อนย้ายสุสานนี้ออกมาให้อยู่ใกล้กับเขตแดนของตุรกีมากขึ้นเพื่อความสะดวกต่อการดูแล
ความสัมพันธ์อันซับซ้อนนี้มีตัวแสดงสำคัญอีกหนึ่งกลุ่มที่เกี่ยวข้อง ก็คือ ชาวเคิร์ด ซึ่งชาวเคิร์ดในเมืองโคบานี่ของซีเรีย ได้ปฏิบัติการทางทหารและยึดพื้นที่ปกครองกับกลุ่มไอซิส นับตั้งแต่ปีที่แล้วเป็นต้นมา ในหลายครั้ง กระทั่งทำให้เคิร์ดในตุรกีเองก็เรียกร้องให้รัฐบาลตุรกีสนับสนุนเคิร์ดในโคบานี่ในการต่อสู้กับไอซิส ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการสร้างความเชื่อมั่นของเคิร์ดต่อความจริงใจของรัฐบาลตุรกีในกระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินไประหว่างตุรกี กับกลุ่ม PKK ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธเคิร์ดในตุรกี อย่างไรก็ดี ตุรกีเองก็ไม่ได้แสดงท่าทีที่ชัดนักในช่วงเวลานั้น

การปะทุของความขัดแย้งกรกฎาคม 2015
ความขัดแย้งกรกฎาคม 2015 นี้เกิดขึ้นที่เมือง Suruç ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเขตแดนตุรกี-ซีเรีย ในระหว่างการรวมตัวกันประท้วงของกลุ่มชาวเคิร์ดและกลุ่มฝ่ายซ้าย ที่ Amara Cultural Park ก็มีการระเบิดฆ่าตัวตายขึ้น ส่งผลให้มีคนเสียชีวิตอย่างน้อย 30 คน และมีผู้บาดเจ็บกว่า 100 คน ต่อมาทางการตุรกีได้ระบุผู้ที่ก่อการว่าเป็นชาวเคิร์ดคนหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับไอซิส ชื่อว่า Seyh Abdurrahman Alagoz


หลังจากเกิดเหตุการณ์ครั้งนี้ ชาวเคิร์ดทั่วประเทศไม่พอใจและออกมาประท้วงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ดก็ได้ฆ่าเจ้าหน้าที่ตำรวจชาวตุรกีสองคน เพื่อเป็นการล้างแค้นในกรณี ซึ่งชาวเคิร์ดมองว่าเป็นเพราะความผิดของรัฐบาลที่ไม่ยอมช่วยเหลือชาวเคิร์ดในโคบานี่เพื่อต่อต้านไอซิส ขณะเดียวกัน พรรค HDP ซึ่งได้รับเสียงจากชาวเคิร์ดในการเลือกตั้งที่ผ่านมาก็ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการบางอย่างต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แน่นอนว่าหลังจากเหตุการณ์ ประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาประณามการก่อการร้ายครั้งนี้ทันที
ขณะเดียวกัน ในบริเวณชายแดนก็เกิดความตึงเครียดมากยิ่งขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่ทหารตุรกีหนึ่งคนได้เสียชีวิต และอีกสองคนได้รับบาดเจ็บระหว่างการปะทะกันในเมือง Kilis ของซีเรีย



หลังจากนั้น มีข่าวที่ระบุถึงการเจรจากันระหว่างโอบามาและประธานาธิบดีแอรโดก์อาน สืบเนื่องจาก ข้อเสนอในการใช้พื้นที่ของตุรกีเป็นฐานทัพทางอากาศในการส่งกองกำลังเข้าไปปราบปรามไอซิสสหรัฐฯมองว่าเป็นภัยคุกคามโลก อย่างไรก็ตามตุรกีได้ไม่ให้คำตอบใดๆ ในระยะเวลาที่ผ่านมา จนในครั้งนี้ ตุรกีได้ยอมที่จะให้ฐานทัพบริเวณ Incırlık ให้แก่สหรัฐฯ หากจะใช้ปฏิบัติการหากแต่ต้องให้ตุรกีได้รับรู้และมีสิทธิคัดค้านในปฏิบัติการ



ในส่วนของตุรกีเอง ได้แสดงท่าที่คัดค้านที่ชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุที่ต้องการหยุดกระแสความโกรธของชาวเคิร์ด หรือ การปฏิบัติการเพื่อหยุดภัยคุกคามต่อความมั่นคงของตุรกี เอง ทางรัฐบาลตุรกีได้ออกปฏิบัติการจับกุมผู้ที่มีหลักฐานว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย 251 คน ไม่ว่าเป็นกลุ่ม ISIS กลุ่ม PKK (the Kurdistan Workers Party) และกลุ่ม DHPK-C (the Revolutionary People's Liberation Party-Front) ที่กระจายไปทั่วทั้งตุรกี ขณะเดียวกันก็ได้ปฏิบัติการทางอากาศจากฐานทัพอากาศ Dıyarbakır ไปสู่ซีเรีย ซึ่งส่งผลให้มีสมาชิกไอซิสเสียชีวิตอย่างน้อย 35 คน

สิ่งที่น่าสนใจของเหตุการณ์ครั้งนี้

สิ่งที่น่าสนใจจากกรณี คือ ท่าทีของตุรกีที่แข็งกร้าวขึ้นต่อไอซิส และการยินยอมให้สหรัฐ เข้ามาในครั้งนี้จะทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศตุรกีในฐานะประเทศที่กำลังก้าวเป็นผู้นำของประเทศมุสลิมต้องสั่นคลอนหรือไม่ อย่างไรก็ดี หากวิเคราะห์บนฐานการมองแบบสัจจนิยมแบบใหม่แล้ว การปฏิบัติการของตุรกีต่อไอซิสเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ว่าจะต้องเกิดขึ้น เนื่องจากอยู่ในเขตชายแดนใกล้เคียงและถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อประเทศ การยอมให้สหรัฐฯเข้ามาก็ถือได้ว่าหาผู้ปฏิบัติการร่วม ที่ตุรกีเองก็ไม่ต้องการจะติดอยู่กับสงครามนี้นานจนเกินไปและต้องสูญเสียกำลังทางทหารของตนเองมากเกินไป แม้ว่าหากพิจารณาถึงศักยภาพทางทหารที่ตุรกีติดอยู่ในอันดับที่ ของโลกแล้วก็สามารถดำเนินการได้เอง ขณะเดียวกันในปฏิบัติการครั้งนี้ก็อาจเป็นการแสดงจุดยืนทางภาพลักษณ์ที่ตุรกีถูกกล่าวหาว่าให้การสนับสนุนกลุ่มไอซิส ตลอดจนแสดงความจริงใจของชาวเคิร์ดในฐานะที่เป็นพลเมืองของรัฐเช่นเดียวกันซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อกระบวนการสันติภาพเติร์ก-เคิร์ด แม้ว่าการจับกุมกลุ่ม PKK ก็อาจส่งผลต่อความไม่พอใจได้ แต่เพื่อระงับความรุนแรงภายในที่เกิดขึ้นและมีความเสี่ยงจะเกิดขึ้นจึงต้องจับกุมกลุ่มติดอาวุธในทุกฝ่ายในประเทศอย่างเท่าเทียม ตลอดจนเพื่อคุมอำนาจของกลุ่ม PKK ที่เริ่มกลับมาใช้กำลังมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นการแสดงศักยภาพทางทหารของตุรกีเองให้กับอิหร่านที่เริ่มมีอิทธิพลในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น

สิ่งที่น่าติดตามต่อไปก็คือ ท่าทีของกลุ่มติดอาวุธต่างๆ โดยเฉพาะ PKK และ ไอซิส ที่จะมีต่อตุรกีหลังจากนี้ รวมไปถึงท่าทีของสหรัฐฯ ที่จะเข้ามามีบทบาทต่อกรณีไอซิสนี้อย่างไร




วันพฤหัสบดีที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ตุรกี-จีน-ไทย กับประเด็นปัญหาอุยกูร์เติร์ก



ในช่วงนี้ อีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่ทำให้หลายฝ่ายให้ความสนใจกับประเด็นอุยกูร์เติร์กในไทยหลังจากที่เงียบหายไปนับตั้งแต่หนึ่งปีที่ผ่านมา เมื่อได้พบกลุ่มชาวอุยกูร์เติร์กจำนวนหนึ่งอยู่ในป่า และกลุ่มเหล่านี้ก็ได้ถูกกักกันตัว เพื่อพิสูจน์สัญชาติ ที่พวกเขาต่างอ้างว่าเป็นชาวตุรกี

หากตั้งคำถามเบื้องต้นที่หลายคนสงสัย ก็คงจะเป็นอุยกูร์เติร์กนี่คือใครกัน?
ชาวอุยกูร์เติร์ก เป็นมุสลิมเชื้อสายเติร์ก ซึ่งยังคงรักษาวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ที่คล้ายคลึงกับชาวตุรกีในปัจจุบัน หากแต่ว่าชาวอุยกูร์เติร์กนี้ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ซินเจียงของจีน ที่ซึ่งพวกเขาเองเรียกว่าเป็น เตอร์กิสถานตะวันออก ด้วยความต่างที่มี แต่ถูกผนวกรวมเข้ากับจีน ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวอุยกูร์เติร์กกับจีนจึงเกิดขึ้นเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์ได้เข้ามาปกครองประเทศ และใช้นโยบายผสมกลมกลืน รวมถึงกดทับ อัตลักษณ์เดิมที่มีความต่างจากจีนโดยทั่วไปเป็นทุนเดิมของชาวอุยกูร์เติร์ก โดยพยายามที่จะยัดเหยียดความเป็นจีนให้กับคนเหล่านี้ และปิดกั้นเสรีภาพในเรื่องการประกอบศาสนกิจ ภายใต้แรงกดเช่นนี้ จึงทำให้กลุ่มเคลื่อนไหวที่ต้องการปลดแอกพื้นที่นี้ให้เป็นอิสระเริ่มมีจำนวนที่มากขึ้นและเห็นชัด จนเกิดการปะทะกันเป็นความรุนแรงอยู่บ่อยครั้ง ครั้งหนึ่งที่เป็นความรุนแรงเด่นชัด คือ ในปี 2009 ก็เกิดการปะทะครั้งใหญ่ขึ้นที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และถือเป็นจุดเริ่มต้นความรุนแรงระลอกใหม่ที่ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน[1] ขณะเดียวกันนับตั้งแต่หลังจากเกิดเหตุการณ์ 9-11 ขึ้นก็ทำให้มีการอ้างว่ากลุ่มเคลื่อนไหวชาวอุยกูร์เติร์กในจีนนี้อาจมีความเกี่ยวข้องกับอัลกออิดะหฺ จนทำให้เกิดกระแสความหวาดกลัวเพิ่มขึ้นแก่สังคมจีน



ด้วยภาวะเช่นนี้ โดยเฉพาะการถูกห้ามจากการประกอบศาสนกิจ ทำให้ชาวอุยกูร์เติร์กหลายคนเริ่มแสวงหาที่พักพิงแห่งใหม่ให้กับพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นปากีสถานที่เป็นประเทศใกล้เคียง รวมไปถึงประเทศในแทบเอเชียกลาง หรือ ตะวันออกกลาง แน่นอนว่าประเทศหนึ่งที่เป็นเป้าหมายก็คือ ตุรกี ซึ่งเป็นพื้นที่หลักที่ชาวอุยกูร์เติร์กได้ย้ายถิ่นไปนับตั้งแต่ปี 1965 ซึ่งตุรกีได้ส่งเครื่องบินไปรับชาวอุยกูร์เติร์กมาจากอัฟกานิสถานที่พวกเขาเดินเท้าอพยพออกมา จำนวนกว่า 200 คน แม้ว่าก่อนหน้านี้ในช่วงปี 1933-34 ตุรกีจะรับ Isa Yusuf Alptekin หัวหน้าของเตอร์กิสถานที่อพยพเข้ามาก่อนแล้ว นับแต่นั้นเป็นต้นมาก็มีการอพยพของชาวอุยกูร์เติร์กมาสู่ตุรกีตลอดมา[2] สิ่งหนึ่งที่มีร่วมกันที่ทำให้ตุรกียอมรับก็เนื่องจากความเป็นเชื้อสายเติร์กที่มีอยู่เหมือนกัน และยิ่งชัดเจนขึ้นภายหลังจากเกิดเหตุการณ์จลาจลปี 2009 ที่จำนวนผู้อพยพเริ่มสูงขึ้น และเป็นช่วงเวลาที่พรรครัฐบาลสายอิสลามได้บริหารประเทศ ซึ่งได้ประกาศจุดยืนชัดเจนในการประณามจีนในเวลานั้น ประกอบกับรัฐบาลพรรคอัคมีนโยบายในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและให้การช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ประเทศมุสลิมและประเทศยากไร้เป็นทุนหนุนเสริมที่ทำให้ตุรกีกลายเป็นเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้นของชาวอุยกูร์เติร์กที่ต้องการอพยพ และด้วยประเด็นนี้ทำให้ตุรกีกับจีนเองแม้ว่าจะมีความสัมพันธ์ในด้านอื่นๆ ด้วยดี แต่ก็ยังคงเรียกร้องพร้อมประณามรัฐบาลจีนทุกครั้งหากมีการกดขี่ต่อชาวอุยกูร์เติร์กเกิดขึ้น

แล้วเหตุใดไทยจึงมาเกี่ยวข้อง?
สืบเนื่องจากเมื่อปีที่แล้วที่มีข่าวว่าพบกลุ่มคนไม่ทราบสัญชาติเดินทางเข้าเมืองไทยมาในขณะที่กำลังค้นหากลุ่มอพยพชาวโรฮิงญา เมื่อได้มีการกักกันตัวไว้ แล้วสอบสวน กลุ่มคนเหล่านี้ก็ได้อ้างตัวว่าเป็นชาวตุรกี ที่ต้องการเดินทางไปยังตุรกี และหลังจากนั้นจึงเป็นที่แน่ชัดว่าเป็นชาวอุยกูร์เติร์ก ภายหลังจากนั้น ไทยก็กักตัวกลุ่มเหล่านี้ไว้ก่อนที่จะดำเนินการต่อไป โดยตุรกีได้ออกรับว่าตุรกีเองพร้อมที่จะรับกลุ่มนี้เข้าสู่ตุรกี แต่ทางการจีนก็ได้ยื่นข้อเสนอว่าขอให้ไทยส่งตัวกลับ กระบวนการเจรจาต่อรองเป็นไปด้วยระยะเวลาหนึ่ง กระทั่งเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 58 ไทยได้ส่งชาวอุยกูร์เติร์กจำนวน 173 คนไปยังตุรกี โดยที่ส่วนมากเป็นเด็กและผู้หญิง ซึ่งได้สร้างความประทับใจและความสบายใจมากขึ้น ที่เหตุการณ์กำลังดำเนินไปด้วยดี ตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลที่ผู้อพยพมีสิทธิร้องขอไปยังประเทศที่สามได้ หากมองว่าการกลับคืนสู่ประเทศเดิมนั้นจะเกิดภัยคุกคามต่อความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน แต่เมื่อกลางดึกของวันที่ 8 กรกฎาคม 58 ก็มีข่าวการประท้วงของชาวอุยกูร์เติร์กในตุรกีหน้าสถานกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ในอิสตันบูล เนื่องจากความไม่พอใจที่รัฐบาลไทยได้ส่งคนจำนวนกว่า 109 คน ซึ่งมีผู้หญิงและเด็กรวมอยู่ด้วย แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นผู้ชาย กลับไปจีนอย่างลับๆ ด้วยเครื่องบินของกองทัพ ในวันต่อมา ก็ได้เกิดเป็นประเด็นขึ้นจนรัฐบาลไทยออกมาระบุว่าได้ส่งกลับประเทศจีน เนื่องจากผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วว่ากลุ่มนี้เป็นชาวจีน ในขณะที่กลุ่มก่อนหน้านี้นั้นเป็นกลุ่มที่ไม่มีความผิดใดๆ ตามกฎหมายและประสงค์เดินทางไปตุรกี ซึ่งการประท้วงจึงขยายไปสู่สถานทูตไทยในตุรกี แม้ว่าจะไม่ได้มีความรุนแรงเฉกเช่นที่เกิดขึ้นที่สถานกงสุลก็ตาม[3]  



ผลจากการส่งกลับครั้งนี้เป็นอย่างไร?
แน่นอนว่าตัวละครต่างๆ ต่างก็มีผลสะท้อนที่ต่างกันไป เริ่มจากไทยเองที่ยืนยันว่าการส่งตัวผู้อพยพกลับจีนนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เพราะกระบวนการพิสูจน์สัญชาติออกมาเป็นเช่นนี้ และระบุว่าจีนจะรับรองความปลอดภัย ซึ่งส่วนนี้ก็เป็นที่วิพากษ์ว่าอาจจะมีความเกี่ยวข้องกับการที่รัฐบาลไทยเองต้องการที่จะเอาใจจีนมากขึ้น เพราะต้องการมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดขึ้น ซึ่งหากส่งตัวทั้งหมดไปยังตุรกีก็อาจทำให้จีนเองไม่พอใจ

ท่าทีของฝ่ายจีน แม้จะเรียกร้องว่ากลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มที่ทางจีนต้องการตัว แต่หลังจากการส่งตัวกลับก็ยังไม่มีปฏิกิริยาใดจากจีน นอกจากการรับรองความปลอดภัยกับผู้ที่ไม่ได้กระทำความผิดและยินดีที่จะให้มีผู้แทนในการติดตามผล

ส่วนท่าทีของตุรกี กระทรวงต่างประเทศของตุรกีได้ออกประณามการกระทำของรัฐบาลไทยในครั้งนี้ โดยมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่แม้ทราบว่าการส่งคนกลับไปจะเป็นอันตรายต่อชีวิต แม้ตุรกีจะยินดีรับไว้แล้วก็ตามและจะติดตามประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด[4] แต่ขณะเดียวกันประธานาธิบดีแอร์โดอานเองก็ออกมาระบุว่าไม่เห็นด้วยกับการบุกรุกสถานกงสุลของไทยและทุกคนคือแขกของประเทศ[5] เอกอัครราชทูตตุรกีประจำประเทศไทยก็ยืนยันที่จะรักษาความปลอดภัยให้กับชาวไทยในตุรกี[6] อย่างไรดี ท่าทีของตุรกีในครั้งนี้ก็อาจมีความเกี่ยวข้องกับการเมืองที่กำลังเป็นไปในประเทศไม่น้อย เมื่อกลุ่มขบวนการชาตินิยมตุรกีเองก็มีการเข้าร่วมสนับสนุนประท้วงจีนที่เกิดขึ้นก่อนหน้าไม่นานมานี้ และการช่วยเหลือชาวอุยกูร์เติร์กในก่อนหน้านี้ก็ทำให้กลุ่มชาตินิยมที่เป็นอีกกลุ่มซึ่งพรรคอัคเล็งว่าจะดึงเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในรัฐบาลผสมพอใจไม่น้อย แม้ว่าตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของตุรกีเองก็ตาม อย่างไรก็ตามในแง่ความสัมพันธ์ไทยตุรกีในประเด็นอื่นนั้นยังไม่ได้รับผลกระทบอันใด

นอกจากนี้แล้วยังมีท่าทีที่ออกมาจากองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น UNHCR, Human Rights Watch[7] และสภาอุยกูร์เติร์กโลก[8] ที่ออกมาแสดงความกังวลและมองว่าไทยกำลังทำสิ่งที่ขัดกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากล รวมไปถึงสหรัฐอเมริกาเองที่ออกมาแสดงความกังวลนี้ และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยไม่เนรเทศเชิงบังคับผลักไสชาวอุยกูร์เติร์กเหล่านั้นออกนอกประเทศอีก[9] ท่าทีของสหรัฐฯในครั้งนี้ออกมาเพื่อที่จะแสดงจุดยืนที่ค้านต่อจีนด้วยเช่นกัน แม้ว่าสหรัฐเองก็ไม่ได้มีท่าทีที่เป็นมิตรนักต่อตุรกีก็ตาม



สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนี้ถือว่าทำให้ภาพลักษณ์ของไทยนั้นเสียหายไม่ใช่น้อย อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้สิ่งที่ไทยต้องพิสูจน์หากจะเรียกความเชื่อมั่นกลับมา นั่นคือ กระบวนการติดตามผลที่จีนได้เสนอไปนั้นไทยจะต้องมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการจัดการต่อส่วนที่เหลือในประเทศให้เป็นไปตามกรอบสิทธิมนุษยชนสากล

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ของคนไทยในตุรกีนั้นก็อาจไม่น่าเป็นห่วงมากนักแม้ว่าจะต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิดก็ตาม แต่เมื่อมีกระบวนการตกลงตลอดจนการแถลงจุดยืนในการต้อนรับแขกอย่างให้เกียรติของประธานาธิบดีแล้วก็เป็นเสมือนการแสดงท่าทีของตุรกีในเรื่องของความปลอดภัยในตุรกีเช่นกัน ขณะเดียวกันนอกจากการประณามแล้ว ก็ยังไม่มีสถานการณ์ที่ชัดเจนของตุรกีนักต่อไทย เพราะไทยเองในสถานการณ์นี้ก็เปรียบเสมือนกับคนกลาง แต่หากไทยยังคงดำเนินการที่ซ้ำรอยในอนาคตก็อาจสร้างความไม่พอใจได้มากขึ้น






วันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ตุรกีกับความช่วยเหลือเพื่อสันติภาพในพื้นที่ขัดแย้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานี


          นโยบายต่างประเทศของตุรกีในยุครัฐบาลยุติธรรมและการพัฒนา หรือ พรรคอัค ปัจจุบันนี้ สิ่งที่เห็นเด่นชัดประการหนึ่งคือการเน้นในการให้ความช่วยเหลือในด้านสิทธิมนุษยชน และเน้นบทบาทการเข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะคนกลาง หรือ แสดงบทบาทของฝ่ายที่สาม (Third Party) ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับหลายพื้นที่ขัดแย้ง ประกอบกับแนวคิดของพรรคที่เน้นหนักในการขยายอิทธิพลพร้อมกับความรู้สึกของการเป็นประเทศผู้ปกครองของมุสลิมนับตั้งแต่ออตโตมานในอดีตยังคงหลงเหลืออยู่ในเหล่าผู้นำมุสลิมในประเทศ ฉะนั้นไม่แปลกที่จะเห็นว่าพื้นที่การให้ความช่วยเหลือของตุรกีนั้นจะเน้นในพื้นที่ขัดแย้งที่มีชาวมุสลิมอยู่และหลายครั้งก็อิทธิพลของความเป็นเติร์กก็ยังคงเห็นได้เด่นชัดในการเข้าไปมีส่วนร่วมในกรณีความขัดแย้งในพื้นที่ที่มีชาวเติร์กอาศัยอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตะวันออกกลาง เอเชียกลางและแถบประเทศบอลข่าน
นายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ดาวุดโอวฺลู (Davutoğlu) ได้แสดงความเห็นว่า เขตแดนและการแบ่งแยกทางการเมืองนั้นเป็นเพียงสิ่งไม่จริงที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง ฉะนั้นแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้จะสามารถจัดการได้เมื่อมองในองค์รวมทุกระดับของปัญหาพร้อมกับการยอมรับในการร่วมมือต่อการสร้างสันติภาพจากตัวแสดงท้องถิ่นรากหญ้าเท่านั้น[1] จากแนวคิดลักษณะนี้ ตุรกีได้แสดงบทบาทในหลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นบทบาทการเป็นคนกลาง (Mediator) และ ผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) ทั้งในแง่ของการเจรจาของคู่ขัดแย้งหลักในหลายๆ กรณี เช่น ในกรณีของฟิลิปปินส์ ที่ตุรกีเองก็มีส่วนร่วมในการเป็นหนึ่งในคนกลางครั้งนี้ เป็นต้น และการเปิดโอกาสให้เป็นพื้นที่หลักของพูดคุยหารือแนวทางการช่วยเหลือประเทศต่างๆ เช่น ในกรณีของการเป็นพื้นที่กลางที่นักกิจกรรมทั่วโลกที่ต้องการช่วยเหลือซีเรีย หรือ ปาเลสไตน์ ในการมารวมตัว เป็นต้น รวมถึงความพยายามในการให้ความช่วยเหลือทางด้านสิทธิมนุษยชนและการสร้างพื้นฐานที่สำคัญของสังคมที่จะช่วยหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ ซึ่งบทบาทที่กล่าวมาแล้วนั้น เป็นบทบาทที่มีทั้งในลักษณะของการให้ความช่วยเหลือผ่านรัฐบาลตุรกีโดยตรงและผ่าน INGOs และ NGOs หลักในประเทศ 
บทบาทเหล่านี้ตุรกีได้แสดงอย่างค่อนข้างเด่นชัด กระทั่งอาจมองได้ว่าเป็นอีกหนึ่งแนวทางของการกระจายอำนาจและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ หากมองตามที่ Nye ได้นำเสนอความคิดแล้วก็อาจกล่าวได้ว่าการแสดงบทบาทในการช่วยเหลือเพื่อสร้างสันติภาพในพื้นที่ขัดแย้งเหล่านี้เป็นการใช้อำนาจอ่อน (Soft Power) ของตุรกีเอง[2] แน่นอนว่าการใช้อำนาจลักษณะนี้ไม่ได้ส่งผลต่อผลประโยชน์ของประเทศโดยตรง หากแต่จะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและเป็นการให้ความช่วยเหลือที่จะเอื้อต่อผลประโยชน์ของประเทศโดยอ้อมจากผลที่ตามมา เช่น หากมีภาพลักษณ์ที่ดี หรือ หากในประเทศนั้นๆ สามารถคลี่คลายปัญหาความไม่สงบได้แล้ว ก็จะมีทัศนคติในเชิงบวก และอาจส่งผลต่อความร่วมมือในด้านอื่นๆ ต่อไปได้ เป็นต้น
ในบริบทของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้/ ปาตานี เอง ตุรกีก็ได้เข้าไปมีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือ  แม้ว่าจะยังคงมีอยู่ในระดับที่ไม่มากนักและยังไม่เป็นทางการหากเปรียบเทียบกับอีกหลายพื้นที่ แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการช่วยเหลือจากต่างประเทศที่มีข้อเด่นในการที่เห็นเป็นรูปร่างชัดเจนและเข้าถึงประชาชนรากหญ้าได้ค่อนข้างมาก
การให้ความช่วยเหลือของตุรกีต่อสามจังหวัดชายแดนภาคใต้/ ปาตานี โดยหลักแล้วจะดำเนินผ่านองค์กรพัฒนาเอกชนของประเทศตุรกี ที่เห็นเด่นชัดที่สุด คือ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชน เสรีภาพและการช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม หรือ อีฮาฮา (İnsan Hak ve Hürriyetleri ve İnsani Yardım Vakfı İHH) ซึ่งเป็นองค์กรที่เน้นให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติและขาดแคลนต่างๆ ทั่วโลก ผ่านงบประมาณที่มาจากการบริจาคโดยตรง ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในองค์กรที่มีการทำงานอย่างเห็นชัดและมีประสิทธิผล การทำงานของอีฮาฮาต่อพื้นที่นั้นโดยหลักแล้วจะร่วมมือกับองค์กรเอกชนในพื้นที่ที่ทางองค์กรได้คัดเลือกและเล็งเห็นว่าสามารถทำงานได้เห็นผลเมื่อได้รับการช่วยเหลือไปแล้วและเป็นองค์กรที่สามารถเข้าถึงประชาชนรากหญ้าได้ อีฮาฮาได้เน้นให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ในสามเรื่องหลัก[3] คือ
1. ด้านการศึกษา  ซึ่งได้สนับสนุนในการสร้างโรงเรียน 1 แห่ง ในพื้นที่อ.ยะหริ่ง หรือ โรงเรียนบูรณาการศึกษาวิทยา โดยที่การสนับสนุนในครั้งนี้เป็นการช่วยเหลือที่ให้ทางโรงเรียนมีการดูแลบริหารการเรียนการศึกษา โดยคนในพื้นที่เอง ในบริเวณโรงเรียนยังมีพื้นที่สำหรับหอพัก และส่วนที่กำลังพัฒนาพื้นที่ต่อไปเรื่อยๆ



2. ด้านการช่วยเหลือเด็กกำพร้า ซึ่งได้สนับสนุนการสร้างศูนย์เด็กกำพร้าร่วมกับมูลนิธิพัฒนาชุมชนเป็นสุข จำนวน 2 แห่ง คือสถาบันศึกษานูรุลญีนานเพื่อเด็กกำพร้าและเยาวชนทั่วไป (Miyasetenis Yetimhanesi) ใน อ.สายบุรี จ. ปัตตานี และ สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าอัสสาอาดะห์ (Furkan Emre Kesik Yetimhanesi) ใน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส และมีโครงการที่จะพัฒนาและเพิ่มจำนวนในพื้นที่อื่นๆ อีกต่อไป ขณะเดียวกันก็มีโครงการในการทำโปสการ์ด[4]เพื่อให้ผลทางจิตใจแก่เด็กกำพร้าเหล่านั้น




3. ด้านอื่นๆ เช่น การเลี้ยงละศีลอด การมอบเนื้อวัวเพื่อการทำกุรบ่านแจกแก่ชาวบ้านทั่วไป หรือ การให้ความช่วยเหลือในด้านยามประสบภัยพิบัติ เช่น การให้ความช่วยเหลือด้านของใช้ที่จำเป็นพร้อมทั้งข้าวสารอาหารแห้งเมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา
นอกจากอีฮาฮาแล้ว ยังมีอีกหลายองค์กรที่ได้เริ่มเข้าสู่พื้นที่เพื่อให้การช่วยเหลือ เป็นรายกรณี โดยเฉพาะการบริจาควัวเพื่อการทำกุรบ่าน หรือ การบริจาคเพื่อเล้ยงละศีลอดในเดือนรอมฎอน องค์กรเหล่านี้ อาทิ เช่น Turkiye Diyanet Vakfı, Cansuyu Yardımlaşma ve Dayanışma Derneği, Deniz Feneri, Kızılay, Kimse Yok mu Derneği เป็นต้น[5] ในที่นี่แทบจะเรียกได้ว่าเกือบจะทุกองค์กรเอกชนหลักๆ ของตุรกีได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนในพื้นที่
ในส่วนของภาครัฐเองนั้นยังไม่มีแนวทางการให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นทางการ นอกเสียจากผ่านการให้ความช่วยเหลือในด้านการให้ทุนการศึกษามาศึกษาต่อยังประเทศตุรกีที่มีการคัดเลือกตัวแทนนักเรียนนักศึกษาจากในพื้นที่มาศึกษาต่อยังประเทศตุรกี
เหล่านี้ล้วนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่เห็นได้ชัด ที่จะเห็นได้ว่าเน้นการพัฒนาและช่วยเหลืออย่างค่อนข้างเป็นรูปธรรม แน่นอนว่าการดำเนินกิจกรรมในลักษณะนี้ส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่ดีและทัศนคติแง่บวกของผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือจากประเทศตุรกี แต่อย่างไรก็ดีในส่วนของตุรกีเองนั้นยังมีความเข้าใจต่อปัญหาในพื้นที่ได้อย่างไม่ชัดเจน หลายครั้งที่การนำเสนอข่าวเกี่ยวกับเรื่องราวในพื้นที่ปาตานีนั้นเป็นไปด้วยความไม่ชัดเจนและมีแนวโน้มในการเน้นนำเสนอแต่บางส่วนที่เน้นความรุนแรงของปัญหาในแง่เดียว อุปสรรคที่ชัดเจนอาจด้วยการสื่อสารที่ไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่เมื่อลงไปยังพื้นที่ในหลายครั้ง
แนวโน้มของความคาดหวังในหลายภาคส่วนต่อบทบาทของตุรกีในพื้นที่ รวมทั้งความคาดหวังของตุรกีเอง ก็อาจจะเป็นการให้ความช่วยเหลือในลักษณะเดียวกับที่ได้ช่วยแก่กรณีกระบวนการสันติภาพบังซาโมโรในฟิลิปปินส์ นั่นคือ การเป็นฝ่ายที่สามที่เข้าไปช่วยเหลือในกระบวนการพูดคุยและเจรจา เนื่องด้วยการที่เป็นหนึ่งในประเทศมุสลิมที่สำคัญในการเมืองโลกปัจจุบัน และเป็นประเทศที่มีผลงานประจักษ์ในการทำงานในพื้นที่ขัดแย้งอื่นๆ รวมถึงการมีกิจกรรมที่ปรากฏให้เห็นในพื้นที่ แต่อย่างไรก็ดี ข้อจำกัดที่แตกต่างของบริบทความขัดแย้ง รวมถึงความเข้าใจต่อปัญหา ก็ยังคงเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถมองข้ามได้ หากแต่ตุรกีเองเริ่มมีความพยายามในการสร้างความเข้าใจต่อพื้นที่มากขึ้นเช่นกัน (ผู้เขียนเริ่มเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในการนำเสนอข่าวที่มีความเข้าใจต่อบริบทพื้นที่มากขึ้น) อย่างไรก็ดี ณ เวลานี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า กระแสของการเติบโตในการสร้างภาพลักษณ์ที่น่าชื่นชมของตุรกีต่อมุสลิมบางส่วนทั่วโลกก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้การยอมรับการช่วยเหลือของตุรกีต่อพื้นที่เป็นไปในเชิงบวก แม้ว่าในปัจจุบันการให้ความช่วยเหลือของตุรกีต่อพื้นที่ปาตานีมีข้อเด่นที่เน้นให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนรากหญ้าอย่างแท้จริง แต่ก็ยังคงมีข้อจำกัดที่เน้นการทำงานเฉพาะกลุ่มและไม่กระจายสู่ระดับบนมากนัก ซึ่งในส่วนนี้อาจจะมีแนวโน้มที่จะเห็นการพัฒนาความช่วยเหลือต่อกระบวนการสันติภาพที่กระจายมากขึ้นต่อไป






[1] Ahmet Davutoğlu, Stratejik Derinlik: Türkiye’nin Uluslararası Konumu, İstanbul, Küre Yayınları, 2001.
[2] Nye, Joseph S. Jr. 2004. Soft Power: the Means to Success in World Politics. New York: Public Affairs.
[3] ประมวลจากการพูดคุยกับตัวแทนจากอีฮาฮาที่รับผิดชอบในพื้นที่ปาตานีโดยตรง และองค์กรต่างๆที่ได้รับความช่วยเหลือ
[4] เป็นโครงการของกลุ่ม  BirŞeyYap ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของเยาวชนรุ่นใหม่ที่เป็นอาสาสมัครภายใต้การทำงานขององค์กรสิทธิมนุษยชนใหญ่องค์กรหนึ่งของตุรกี ซึ่งก็คือ IHH Humanitarian Relief Foundation เยาวชนเหล่านี้ก็เป็นเยาวชนที่มาจากหลากหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาหรือนักธุรกิจรุ่นใหม่ ที่ได้ใช้เวลาว่างจากหน้าที่หลักมาเรียนรู้งานจากองค์กรหลัก และคิดโครงการกันขึ้นมาเอง 
            โครงการเล็กๆที่เริ่มกันของกลุ่มนี้คือ การทำโปสการ์ด เพื่อที่จะให้แก่เด็กกำพร้าที่อยู่ภายใต้องค์กรแม่ที่พวกเขาทำงานให้ เนื่องจากพวกเขาเล็งเห็นว่าหลายครั้งการช่วยเหลือไม่ใช่แค่การให้เงิน หากแต่เป็นการช่วยเหลือทางด้านจิตใจด้วยเช่นกัน จากความตั้งใจเล็กๆ นี้ เริ่มค่อยๆ ขยายเป็นรูปเป็นร่างขึ้น จากเพียงแค่โปสการ์ดเริ่มพัฒนาเป็นโปสการ์ดที่ติดมาด้วยปฏิทิน ที่มีรูปภาพที่อาสาสมัครเหล่านั้นได้ถ่ายขึ้นมาเองในขณะไปช่วยงานในพื้นที่ต่างๆ และเริ่มขยายด้วยการมีรายละเอียดเล็กๆที่แทรกภายในขึ้นมา ว่าโปสการ์ดเหล่านั้นที่ส่งไปให้กับเด็กกำพร้าคนไหน สามารถส่งกลับเพื่อมีการติดต่อกับเด็กคนนั้นอย่างต่อเนื่องได้ ทางกลุ่มเริ่มขยายการทำงานด้วยการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กรตุรกีที่มีเด็กนักศึกษาต่างชาติรวมตัวกัน เพื่อที่จะหาอาสาสมัครสำหรับการแปลโปสการ์ดเหล่านั้นให้เป็นภาษาที่เด็กกำพร้าในแต่ละพื้นที่สามารถเข้าใจได้
            ขณะเดียวกัน โครงการนี้ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์มากขึ้น การทำโปสการ์ดเล็กๆ นี้จึงได้พัฒนากลายเป็นโครงการที่เมื่อคนที่ได้รับโปสการ์ดแล้วในขณะที่ส่งกลับ ก็สามารถบริจาคและเงินบริจาคเหล่านี้ทั้งหมดจะนำไปสมทบทุนให้แก่โครงการการสร้างโรงเรียนเด็กกำพร้าในพื้นที่ปัตตานี
[5] ตามข้อมูลจากเพจเฟสบุคหลักของทุกองค์กรและจาก http://www.aksiyon.com.tr/dosyalar/turkiye-dunyayi-kurban-la-sevindirdi_536849