วันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ผลการเลือกตั้งตุรกี 2015 กับจุดเปลี่ยนของการเมือง


เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน 2015 สาธารณรัฐตุรกีได้จัดการเลือกตั้งทั่วไปเพื่อเลือกรัฐบาลชุดที่ 25 หลังจากที่หมดวาระไป ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการปรากฏว่า มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง คิดเป็น 86.63% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วทั้งประเทศ มี 4 พรรคหลักที่มีแนวคิดทางการเมืองแตกต่างกัน ได้รับเลือกตั้ง พรรค AK ได้ที่นั่ง 258 ที่นั่ง คิดเป็น 40.86% ของผู้มาเลือกตั้งทั้งหมด พรรค CHP ได้ที่นั่ง 132 ที่นั่ง คิดเป็น 24.96% พรรค MHP และ HDP ได้ที่นั่งเท่ากันนั่นคือ 80 ที่นั่ง หากแต่ MHP ได้รับเสียงทั้งหมดคิดเป็น 16.29% ในขณะที่ HDP ได้รับเสียงทั้งหมดคิดเป็น 13.12% ในขณะที่พรรคอื่นๆแม้ไม่ได้ที่นั่งแต่ก็ได้รับเสียงรวมกัน 4.77% ของผู้มาเลือกตั้งทั้งหมด
รูปที่ 1 ผลการเลือกตั้งทั่วไปตุรกี 2015


ข้อน่าสังเกตของการเลือกตั้งกับการเมืองตุรกี

ข้อน่าสังเกตของการเลือกตั้งครั้งนี้ อาจสามารถ มองได้  4 ประเด็นหลัก ดังนี้
1. จุดเปลี่ยนของการเปลี่ยนระบบรัฐบาลพรรคเดียวสู่รัฐบาลผสม
จากผลการเลือกตั้งนี้ ทำให้พรรคอัค ที่เคยเป็นพรรครัฐบาลหลักพรรคเดียวมาตลอดสิบสองปี จากการชนะเลือกตั้งด้วยเสียงส่วนมากในการเลือกตั้งปี 2002, 2007 และ 2011 กลับได้รับเสียงเลือกตั้งลดน้อยลง และไม่เพียงพอต่อการตั้งเป็นรัฐบาลเดียวได้อีกต่อไป เนื่องจากหากจะตั้งพรรครัฐบาลได้จะต้องได้รับเสียงอย่างน้อย 276 ที่นั่ง แต่ครั้งนี้พรรคอัคกลับไม่สามารถทำได้ และสูญเสียฐานเสียงฝั่งตะวันออกที่เป็นพื้นที่ของชาวเคิร์ดไปเกือบทั้งหมด ด้วยเหตุนี้พรรคอัคจึงจำเป็นต้องตั้งพรรครัฐบาลผสม หรือ ไม่ก็อาจตั้งเป็นรัฐบาลเสียงส่วนน้อย ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลให้เกิดการเลือกตั้งใหม่ในเร็ววันนี้ 

รูปที่ 2 การเปลี่ยนแปลงจำนวนเสียงที่ได้รับเลือกตั้งของแต่ละพรรค


สำหรับ ประเด็นรัฐบาลผสม นับได้ว่าเป็นประเด็นถกเถียงอย่างมากในการเมืองตุรกี เนื่องจากว่า ไม่เพียงแต่พรรคหลักอื่นๆ จะปฏิเสธเบื้องต้นในการไม่เข้าร่วมเป็นรัฐบาลผสมแล้ว สังคมตุรกียังคงติดภาพของความวุ่นวายในอดีตเมื่อประเทศได้กลายเป็นพรรครัฐบาลผสมและไม่สามารถตกลงกันได้อย่างลงตัวระหว่างอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกัน ทำให้นำไปสู่ความรุนแรงทางการเมืองและเป็นช่องว่างให้ทหารเข้ามากุมอำนาจ โดยอาศัยสถานะที่ถูกรับรองโดยผู้ก่อตั้งรัฐตุรกี อย่างเคมาล อะตาเติร์ก ที่ระบุว่า ทหารเป็นเสมือนกับ “ผู้คุ้มครองประเทศ” หากแต่เมื่ออยู่ในยุคอำนาจของกองทัพแล้ว กลับมีการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและปราศจากเสรีภาพ ทำให้มีความพยายามในการจำกัดอำนาจของทหารมาตลอดและสำเร็จมากขึ้น จนทำให้ชาวตุรกีเองก็กังวลไม่น้อยกับการตั้งรัฐบาลผสม ขณะเดียวกัน สายอิสลามมิสต์ในประเทศ ก็กังวลว่าการตั้งรัฐบาลผสมจะทำให้พรรคอัคไม่สามารถตัดสินทำสิ่งใดที่จะเป็นประโยชน์ต่อมุสลิมในประเทศได้เท่าเดิม โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการช่วยเหลืออียิปต์และซีเรีย ตลอดจนเสรีภาพในการเคลื่อนไหวอย่างเสรีของมุสลิมในประเทศ และ สิทธิในเรื่องของการสวมหิญาบ
อย่างไรก็ดี หากมองบนฐานของทฤษฎีแล้ว การตั้งรัฐบาลผสมจะช่วยให้มีการถ่วงดุลอำนาจที่มากขึ้น และทำให้ลดภาพลักษณ์ที่อาจถูกมองว่าเป็นรัฐบาลลักษณะคล้ายคลึงกับเผด็จการได้เช่นกัน จึงไม่แปลกที่สื่อตะวันตกส่วนใหญ่จะถือว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นเรื่องที่น่ายินดี เนื่องจากจะเป็นการพัฒนาในเชิงประชาธิปไตยของตุรกีไปอีกขั้น ที่ทำให้อำนาจมีการแบ่งออกไปสู่พรรคที่หลากหลายมากขึ้น

2. จุดเริ่มต้นของข้อท้าทายใหม่ทางการเมืองของ AKP
การเลือกตั้งครั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่า เป็นการสะท้อนถึงการเดินนโยบายที่ผิดพลาดของพรรคอัค โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องความพยายามในการที่จะเปลี่ยนระบบของประเทศให้เป็นระบบประธานาธิบดี ซึ่งจะทำให้ประธานาธิบดีนั้นมีอำนาจในบางเรื่องต่อการตัดสินใจ ในขณะที่ปัจจุบันประธานาธิบดีเสมือนกับสัญลักษณ์ของประเทศเสียมากกว่า ความพยายามในครั้งนี้จึงถูกมองว่าเป็นการสร้างฐานอำนาจที่ยาวนานให้กับแอร์โดว์อานมากขึ้น และมีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การใช้อำนาจนิยมในเชิงเผด็จการได้ อย่างไรก็ดี อีกหนึ่งความพลาดของพรรคอัคนั่นคือการเน้นนโยบายที่เอื้อกับมุสลิมและชาวเคิร์ด มากเกินไป จนทำให้สายชาตินิยมในประเทศไม่พอใจ แต่ในขณะเดียวกันนโยบายใหม่ที่ชู ก็ไม่ได้ให้พื้นที่แก่ชาวเคิร์ดที่เห็นชัด จนทำให้ชาวเคิร์ดเดิมที่หลายพื้นที่เป็นฐานเสียงของพรรคอัคกลับเปลี่ยนไปเลือกพรรคใหม่ของชาวเคิร์ดเอง  แม้ว่าฐานเสียงหลักของพรรคอัคยังคงได้รับเสียงส่วนมากก็ตาม แต่ก็เป็นประเด็นท้าทายสำหรับพรรคอัคไม่ใช่น้อยในการเดินเกมส์ต่อไปข้างหน้า กับสภาพของสังคมตุรกีที่มีความหลากหลายทางแนวคิด  โดยในอนาคตอาจเป็นไปได้ว่าพรรคอัคอาจจำเป็นต้องกลับมาสู่ประเด็นการเมืองภายในมากขึ้นกว่าการเน้นประเด็นระหว่างประเทศมากเช่นเคย
ข้อท้าทายสำคัญของอัคในเวลานี้ก็คือ การจะตัดสินใจที่จะรวมกับพรรคใด หลายการวิเคราะห์มองว่าหากรวมกับ HDP ซึ่งเป็นพรรคของชาวเคิร์ดก็จะทำให้กระบวนการสันติภาพกับชาวเคิร์ดสามารถดำเนินต่อไปได้ แต่ว่าเมื่อ HDP มีแนวคิดหลักเป็นแบบฝ่ายซ้าย และมีความเป็นเคิร์ดสูง ก็อาจทำให้เหล่าชาตินิยมในตุรกีไม่พอใจ ในขณะที่ความเป็นไปได้ที่จะรวมกับพรรค MHP มีมากกว่า เนื่องด้วยความใกล้เคียงในแนวคิดแบบลิเบอรัลและจะเรียกเสียงของความเป็นชาตินิยมเติร์กได้ แต่ล่าสุดผู้นำพรรคทั้งสอง แสดงเจตจำนงที่จะไม่เข้าร่วมในรัฐบาลผสมกับพรรคอัค และหัวหน้า พรรค MHP ก็แนะว่าหากรวมไม่ได้ก็จัดการเลือกตั้งใหม่อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการตั้งรัฐบาลผสม
ฉะนั้น สิ่งที่น่าสนใจที่จะต้องติดตามต่อไป คือ เกมส์ใดที่พรรคอัคจะนำขึ้นมาเล่นกับสถานการณ์ที่ท้าทายพรรคอัคเช่นนี้ แม้ว่าแน่นอนพรรคอัคเองก็ถือว่าครั้งนี้เป็นชัยชนะที่ทางพรรคได้รับอีกครั้งหนึ่งก็ตาม

3. การขึ้นมาของพรรคการเมืองชาวเคิร์ด
     หากมองเปรียบเทียวกับพรรคอื่นๆ แล้ว นับว่ามีการเปลี่ยนแปลงของเสียงเลือกตั้งไม่มาก และจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่ทำให้เกิดข้อท้าทายของพรรคอัคตามที่ระบุข้างต้น รวมถึงการเปลี่ยนบริบททางการเมืองของตุรกีในครั้งนี้ นับได้ว่า ชาวเคิร์ด กลายเป็นส่วนที่มีบทบาทอย่างปฏิเสธไม่ได้ แม้ว่าพรรค HDP นี้จะตั้งขึ้นมาในปี 2012 ซึ่งมีแนวคิดฝ่ายซ้าย แบบสังคมนิยมประชาธิปไตย และเน้นไปในเรื่องของสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก ได้กลายเป็นพรรคที่เริ่มก้าวเข้ามามีบทบาทที่ชัดขึ้นในการเมืองตุรกี ด้วยภาพลักษณ์ของความเป็นเคิร์ดและหัวหน้าพรรคเป็นหนุ่มไฟแรง และสนับสนุนกระบวนการสันติภาพในพื้นที่ชาวเคิร์ด เนื่องจากพรรคนี้บางนักวิเคราะห์ก็มองว่าเป็นสายการเมืองของ PKK หรือกลุ่มติดอาวุธที่เคลื่อนไหวเพื่อปลดปล่อยชาวเคิร์ด ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้สำหรับชาว เคิร์ดที่กระบวนการสันติภาพได้เดินทางมาถึงจุดที่ ความเป็นเคิร์ด ไม่ได้เป็นสิ่งที่ถูกปิดกั้นจากสังคมตุรกีในเชิงทางการต่อไป เนื่องจากชาวเคิร์ดก็เริ่มมีสิทธิในการใช้ภาษาของตัวเอง มีสื่อของเคิร์ด ตลอดจนมหาวิทยาลัยที่ใช้ภาษาเคิร์ด ฯลฯ เกิดขึ้น จึงทำให้ในระดับหนึ่ง ความเป็นเคิร์ด เริ่มเป็นสิ่งที่เปิดมากขึ้น
    การเลือกตั้งครั้งนี้หากมองจากรูปที่ 1 และ รูปที่ 2 ข้างต้นแล้วจะเห็นได้ว่า พื้นที่ของชาวเคิร์ดเกือบทุกจังหวัดพรรค HDP จะได้คะแนนเสียงนำ ต่างจากในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วส่วนใหญ่แล้วจะเลือกพรรคอัค และรูปที่ 2 ก็ชี้ให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของที่นั่งอย่างเห็นได้ชัด เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะชาวเคิร์ดเองในช่วงแรกที่เลือกพรรคอัคนั้นก็เนื่องจากว่า มองว่าอย่างน้อยก็เป็นพรรคที่มีแนวโน้มในการผ่อนปรนให้กับชาวเคิร์ดมากที่สุด ขณะเดียวกัน เมื่อพรรคอัคอาศัยตัวแทนชาวเคิร์ดที่เข้าสู่การเมืองและความสัมพันธ์ที่ดีกับ HDP ในการให้เข้ามามีบทบาทช่วยเหลือกระบวนการสันติภาพก็เสมือนกับดาบสองคม ที่ช่วยสร้างฐานอำนาจให้กับ HDP ได้มีบทบาทมากขึ้น จนทำให้ชาวเคิร์ดหันมาเชื่อใจในพรรคที่เป็นชาติเดียวกันเสียมากกว่า และมองว่าหากได้ตัวแทนเป็นชาวเคิร์ดเองได้นั้นก็จะทำให้เมื่อเข้าสู่สภาแล้วจะต่อสู้เพื่อสิทธิของชาวเคิร์ดได้มากขึ้น
สิ่งที่น่าสนใจในกรณีนี้คือ ทัศนคติของชาวเติร์กที่มีต่อชาวเคิร์ด กลับเริ่มมีปฏิกิริยาที่รุนแรงขึ้น บนฐานของความเป็นชาตินิยม ที่มองว่าถือว่าเป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงของตุรกีหากเคิร์ดมีสิทธิทางการเมืองในรูปแบบนี้ และทำไมจะต้องมีตัวแทนชาวเคิร์ดจำนวนมากขนาดนี้นั่งอยู่ในสภา แต่ขณะเดียวกัน แน่นอนว่าผลที่ออกมาก็สะท้อนถึง ความต้องการพื้นที่ของชนกลุ่มน้อยในประเทศ และเป็นการทำให้ภาพลักษณ์ของตุรกีในกรณีเรื่องปัญหากับชาวเคิร์ดนั้นเป็นไปในทางที่ดีมากขึ้น

4. มุสลิมกับการเมืองอิสลามในตุรกี
การเลือกตั้งครั้งนี้นับได้ว่า เป็นอีกหนึ่งการชี้ชัดที่ทำให้เห็นว่า กลุ่มที่มีแนวคิดอิงอิสลามในตุรกีเองนั้นก็ยังไม่สามารถรวมกันเป็นหนึ่งเดียวได้ ความแตกแยกระหว่างกุลเลนกับสาวกกับพรรครัฐบาลก็ทำให้เสียงเดิมจำนวนไม่น้อยที่หายไป ขณะเดียวกัน พรรค SAADET ที่ได้รับเสียงเลือกตั้งอยู่บ้างในบางพื้นที่ ก็เป็นหนึ่งพรรคสายอิสลามมิค ที่ก็ทำให้ฐานเสียงของกลุ่มอิสลามมิสต์ในตุรกีได้กระจายออกไป ความไม่เป็นหนึ่งเดียวนี้ อาจเป็นสิ่งที่ปกติในเชิงทฤษฎีทางการเมือง แต่แน่นอนว่าส่งผลกระทบเช่นกันต่อฐานเสียงเดิมที่มี
อย่างไรก็ตาม มุสลิมจำนวนมากก็ยังคงเชื่อมั่นในพรรคอัค และมองว่าผลจากการเลือกตั้งครั้งนี้ยังถือว่าเป็นชัยชนะ แต่พรรคอัคเองก็จำเป็นต้องปรับตัว ในช่วงเวลาถัดไปด้วยเช่นเดียวกัน การเน้นอุดมการณ์เชิงศาสนาที่มากเกินไป กับสังคมที่ยังไม่พร้อมและไม่เข้าใจต่อความเป็นอิสลามนั้นก็อาจทำให้เกิดผลเสียได้เช่นกัน ฉะนั้น การปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดในบริบททางการเมือง และรักษาฐานอำนาจของมุสลิมในประเทศ เพื่อประกันถึงสิทธิเสรีภาพในการประกอบศาสนกิจและช่วยเหลือในความเป็นพี่น้องมุสลิมให้ยังสามารถดำเนินต่อไปได้ ก็เป็นสิ่งสำคัญไม่น้อย  


อนาคตของตุรกี จากผลการเลือกตั้ง
             ภาพที่เป็นไปได้ในขณะนี้ เป็นไปได้มากอยู่สองทางระหว่างการจัดตั้งรัฐบาลผสมและการจัดตั้งรัฐบาลเสียงส่วนน้อยชั่วคราวแล้วจัดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งต้องจับตามองต่อไปว่าผลจะเป็นอย่างไร แม้ว่าจะมีบางวิเคราะห์บอกว่าอาจมีความเป็นไปได้ที่สามพรรคนอกจากอัคจะรวมตัวกันแล้วตั้งพรรคขึ้น แต่ถือว่าเป็นความเป็นไปได้ที่น้อยมาก บ้างก็มีการทำนายว่าอาจเกิดความระส่ำระส่ายจนเปิดทางให้กองทัพเข้ามา ซึ่งเป็นไปได้แต่ด้วยอำนาจของกองทัพในปัจจุบันหากไม่มีการหนุนเสริมเบื้องหลัง ก็ทำให้ยากเช่นกันที่จะทำเช่นนั้น ฉะนั้นแล้วทางที่เป็นไปได้มากที่สุดและควรที่จะเป็นคือในสองทางแรก  และขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสั่นคลอนทางการเมืองในครั้งนี้ก็จะกระทบต่อนโยบายต่างประเทศของตุรกี รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศด้วยเช่นเดียวกัน
            สิ่งที่น่าจับตามอง ประการแรก คือ อนาคตของอิสลามการเมืองในตุรกี ว่าจะสามารถรักษาฐานอำนาจและปรับตัวกับข้อท้าทายได้ดีแค่ไหน ในอดีตที่ผ่านมา แม้ว่ามีข้อท้าทายหลายครั้ง พรรคอัคก็พิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถก้าวผ่านมาได้ ครั้งนี้เช่นกันก็เป็นอีกหนึ่งข้อท้าทายที่ต้องจับตามอง เนื่องจากเป็นข้อท้าทายที่มาจากผลของวิธีการที่พรรคอัคเลือกใช้ นั่นคือ แนวทางประชาธิปไตยที่เน้นในเสียงส่วนมาก แน่นอนว่าก็อาจเป็นไปได้ว่า ในท้ายสุดอิสลามนั่นอาจไม่สามารถประยุกต์เข้ากับประชาธิปไตยได้อย่างสำเร็จได้ เนื่องจากฐานคิดของประชาธิปไตยท้ายสุดก็จะมีการเปลี่ยนหมุนผันทางอำนาจขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อาจไม่ถูกไปเสียทั้งหมดหากพิจารณาถึงบริบทประกอบด้วยเช่นกันว่าการเดินทางในเส้นนี้ ได้มีความระมัดระวังหรือไม่ ครั้งนี้ไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามีสิ่งที่พรรคอัคได้มองข้ามไป นั่นคือ คิดว่าฐานสังคมพร้อมสนับสนุนในทุกอย่าง และพยายามสร้างฐานอำนาจที่ยังเร็วเกินไปอยู่สำหรับสังคมตุรกี ขณะเดียวกันก็อยู่กับภาวะที่เศรษฐกิจโลกเกิดความผกผันที่ทำให้ประชาชนอาจมองว่าเป็นความผิดของรัฐด้วยก็เป็นได้ แม้ว่าอัคจะพิสูจน์ตัวเองได้ดีในประเด็นอื่นทั้งการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ พัฒนาระบบศึกษา เศรษฐกิจและระบบสาธารณูปโภคก็ตาม  ฉะนั้นเพียงแค่ความผิดพลาดเล็กน้อยครั้งนี้ก็ยังไม่อาจสรุปได้ว่าอิสลามการเมืองนั้นไม่มีประสิทธิภาพ หากแต่จำเป็นต้องมีการตรวจสอบและพัฒนาเสมอ อย่างไรก็ตาม ด้วยบริบทปัจจุบัน หากมุสลิมจะมีพื้นที่แนวทางนี้ก็ยังคงจำเป็น แต่ในอนาคตนั้นก็ต้องค่อยๆปรับไปสู่แนวทางอิสลามมากขึ้นนั่นเอง
            ประการที่สอง คือ อนาคตของกระบวนการสันติภาพเติร์ก-เคิร์ด เนื่องจากผลการเลือกตั้งครั้งนี้เสมอนกับเหรียญสองด้านที่มีทั้งแง่ดีต่อชาวเคิร์ดคือได้ตัวแทนจากฝ่ายตนที่จะช่วยส่งเสียงของชนกลุ่มน้อยและช่วยในการสานต่อกระบวนการสันติภาพระหว่างรัฐบาลกับกลุ่ม PKK ได้ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างความเกลียดชังและความกังวลที่มากขึ้นให้กับกลุ่มชาตินิยมที่ยังคงมีมากอยู่ในสังคมตุรกีด้วยเช่นกัน  

            

ตุรกีกับการเลือกตั้งทั่วไป 2015

การเมืองตุรกีได้เดินทางมาถึงจุดที่น่าสนใจอีกครั้งหนึ่งภายหลังจากที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา ส่งผลให้อดีตนายกรัฐมนตรีเรเจบ ตอยยิบ แอรโดว์อาน ชนะการเลือกตั้งและกลายเป็นประธานาธิบดีของตุรกี ถัดจากนายอับดุลเลาะห์ กูล และมีนายอะห์มัด ดาวุดโอว์ลู เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน
ในวันที่ 7 กันยายน 2015 นี้ การเลือกตั้งทั่วไปจะถูกจัดขึ้นอีกครั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 550 คนในชุดรัฐบาลชุดที่ 25 แทนที่ชุดเก่าที่ได้หมดวาระลง ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 24 ภายหลังจากตั้งเป็นสาธารณรัฐตุรกี การเลือกตั้งครั้งนี้จะมีวาระสี่ปี โดยระหว่างนี้จะไม่เกิดการเลือกตั้งใดๆ ไปจนถึงปี 2019

การเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งครั้งที่สำคัญ สำหรับพรรคยุติธรรมและพัฒนาหรือพรรคอัค (AK Party) รวมไปถึงอนาคตอิสลามการเมืองในตุรกี เนื่องจากจะเป็นการสร้างความชอบธรรมอย่างแท้จริงให้กับนายกรัฐมนตรีดาวุดโอว์ลูที่ได้ขึ้นตำแหน่งแทนประธานาธิบดีแอรโดว์อาน ครั้งนี้หากดาวุดโอว์ลูและพรรรคอัคชนะการเลือกตั้งแล้วก็จะสามารถรักษาตำแหน่งและอำนาจทางการเมืองไว้ต่อเนื่อง หลังจากที่พรรคอัคได้ขึ้นมาเป็นรัฐบาลนับตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา ซึ่งนับได้ว่าเป็นการขึ้นมาของพรรคการเมืองแนวทางอิสลามในสังคมเซคิวล่าร์ของตุรกี นับตั้งแต่มุสตาฟา เคมาล อาตาเติร์ก ได้เปลี่ยนอาณาจักรออตโตมานให้กลายเป็นสาธารณรัฐตุรกี แม้ว่าในช่วงก่อนที่จะมาถึงการขึ้นสู่อำนาจของพรรคอัคจะมีการเคลื่อนไหวของอิสลามการเมืองในตุรกีมาอย่างต่อเนื่องแต่ก็ถูกขัดขวางตลอดมา กระทั่งเมื่อพรรคอัคได้เข้าสู่อำนาจการเมืองตุรกีก็ถูกมองว่าเป็นอีกแนวทางในการปฏิรูปอิสลามในประเทศ หากแต่แนวทางของพรรคอัคนั้นได้วางอยู่บนฐานของกรอบประชาธิปไตย และอาศัยอำนาจอันชอบธรรมจากการเลือกตั้ง แล้วค่อยๆเปิดพื้นที่ให้กับอัตลักษณ์ทางศาสนาที่ถูกปิดกั้น เช่น ในเรื่องการสวมฮิญาบ เป็นต้น รวมไปถึงการมีนโยบายในการเปิดพื้นที่ให้กับชาวเคิร์ดและดำเนินกระบวนการสันติภาพในพื้นที่ ส่วนด้านต่างประเทศ ก็เน้นนโยบายที่เป็นมิตรต่อประเทศมุสลิมและขยายอำนาจอ่อนในการสร้างภาพของความเป็นผู้นำประเทศมุสลิม ไม่ว่าจะเป็นการรับและสร้างที่พักพิงสำหรับผู้ลี้ภัยสงครามจากซีเรีย อิรัก หรืออียิปต์ ตลอดจนช่วยเหลือทางมนุษยธรรมให้กับประเทศที่อยู่ในภาวะสงครามและยากจน รวมถึงสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับกลุ่มประเทศบอลข่านและกลุ่มประเทศเชื้อสายเติร์ก อย่างไรก็ดี แนวทางของพรรคอัคไม่ได้เน้นไปในรูปแบบอิสลามทั้งหมด การพัฒนาประเทศยังคงดำเนินคู่ขนานไป จนเศรษฐกิจและโครงสร้างสาธารณูปโภคในประเทศได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว จึงเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้แม้ว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงแนวโน้มในการใช้อำนาจนิยมและเป็นพรรคที่ครอบครองอำนาจหลัก มาอย่างยาวนาน แต่ก็ยังคงได้รับการตอบรับจากประชาชนชาวตุรกีอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการเลือกตั้งในครั้งนี้ อีกหนึ่งประเด็นวิจารณ์นั่น คือ ความพยายามในการเปลี่ยนระบบการเมืองการปกครองตุรกีไปสู่รูปแบบประธานาธิบดี ซึ่งได้ให้อำนาจประธานาธิบดีในการบริหาร แทนที่ระบบรัฐสภาที่กำลังเป็นอยู่ ซึ่งข้อวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นนี้ เนื่องจากว่า จะเป็นการถ่ายทอดและสร้างฐานอำนาจที่ต่อเนื่องให้กับแอรโดว์อาน จนอาจทำให้ตุรกีมีลักษณะคล้ายกับประเทศที่ใช้ระบบอำนาจนิยมในการปกครอง หากแต่ข้อดีของระบบประธานาธิบดี ก็จะทำให้มีการตัดสินใจที่ง่ายขึ้น และสร้างฐานอำนาจในการรองรับความพยายามของตุรกีในการเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำในอนาคต ขณะเดียวกันก็เพื่อรักษาฐานอำนาจของพรรคอัคและสายอิสลามิสต์ในประเทศตุรกีเอาไว้ เนื่องจากต้องยอมรับว่าแอรโดว์อานนั้นถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของผู้นำประเทศที่ได้รับการยอมรับค่อนข้างสูง หากต้องการคนมาแทนนั้นก็ยังคงหาได้ยาก แม้แต่ดาวุดโอว์ลูเองนั้นก็ยังถูกเปรียบเทียบในภาวะของความเป็นผู้นำ เนื่องจากบุคลิคของดาวุดโอว์ลูจะดูมีความอ่อนโยนและเป็นนักวิชาการมากกว่านักการเมือง

ขณะเดียวกัน ด้วยกับปัจจัยข้อวิพากษ์วิจารณ์ ในประเด็นการใช้อำนาจในการกำจัดกลุ่มที่เคลื่อนไหวเพื่อสร้างอำนาจซ้อนในประเทศ ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่อาจทำให้ฐานเสียงในครั้งนี้อาจลดลง รวมไปถึงการเคลื่อนไหวที่มากขึ้นของพรรคคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาชนรีพับลีกัน หรือ CHP ที่มีนายคิลินชฺโอว์ลูเป็นประธานพรรค เป็นพรรคฝ่ายค้าน ที่มีแนวคิดที่เน้นความเป็นเคมาลิสต์ ประชาธิปไตยเชิงสังคม ที่เน้นหนักไปทางอุดมการณ์ฝ่ายซ้าย  หรือ พรรคเคลื่อนไหวชาตินิยมหรือ MHP ที่มีนายบาห์เชลี เป็นหัวหน้าพรรค เป็นอีกหนึ่งพรรคที่มีแนวคิดแบบชาตินิยมแต่จะเป็นแนวทางของฝ่ายขวา ตลอดจนพรรคประชาชนประชาธิปไตย หรือ HDP ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายซ้ายที่เน้นสนับสนุนชาวเคิร์ดในตุรกี ก็เริ่มมีบทบาทมากขึ้น พรรคแห่งความผาสุข หรือ SAADET ที่มีแนวคิดอิสลามมิสต์ เช่นเดียวกันกับพรรคอัคหากแต่พรรคอัคจะมีความเป็นสมัยใหม่และเน้นความเป็นกลางมากกว่า และพรรคอื่นๆ เล็กๆ ที่ยังคงมีอยู่ให้เห็น รวมถึงการลงสมัครแบบอิสระของผู้สมัครที่มาจากสายกุลเลนเดิมที่ไม่สังกัดพรรคการเมืองใดๆในครั้งนี้ ความหลากหลายของตัวเลือกจึงเป็นอีกหนึ่งข้อท้าทายของพรรคอัค

อย่างไรก็ดี การคาดการณ์จากหลายฝ่ายก็ยังคงเห็นตรงกันว่า ชัยชนะก็น่าจะยังคงเป็นของพรรคอัคแม้ว่าอาจจะมีอัตราส่วนของเสียงที่ได้รับน้อยลงจากการเลือกตั้งที่ผ่านมา แต่พรรคอัคเองก็จำเป็นที่จะต้องได้รับเลือกตั้งมากกว่า 330 ที่นั่งจึงจะมีสิทธิในการที่จะผลักดันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปสู่การทำประชามติ หรือมากกว่า 367 ที่นั่งเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญได้ผ่านคณะรัฐมนตรี[1]  (หากได้เพียง 276 ที่นั่งก็จะมีสิทธิในการจัดตั้งรัฐบาล)  ขณะเดียวกันก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการตั้งรัฐบาลผสมขึ้น ด้วยกับตัวแทนที่มีความหลากหลายมากขึ้นนั่นเอง

ข้อท้าทายสำคัญอาจไม่ได้อยู่ที่การจะได้รับชัยชนะของพรรคอัค แต่อาจเป็นการดำเนินนโยบายที่จะไม่ให้เกิดอำนาจนิยมตามที่หลายฝ่ายกังวล และเช่นเดียวกันข้อท้าทายก็ยังอยู่ที่ปริมาณของเสียงที่จะได้รับ ซึ่งจะส่งผลต่อเป้าหมายการปรับรัฐธรรมนูญและระบบการปกครองของประเทศที่พรรคอัค มี จึงต้องติดตามต่อไปว่าผลของการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นเช่นไร นักวิเคราะห์หลายท่านยังคงเห็นว่า การพลิกโผที่จะทำให้พรรคฝ่ายค้านและพรรคทางเลือกอื่นขึ้นมาสู่อำนาจนั้นยังมีความเป็นไปได้น้อย แต่หากเป็นไปจริงนั้น คงมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงตุรกีจากภาพที่กำลังเดินไปค่อนข้างสูงเลยทีเดียว โดยเฉพาะในประเด็นด้านความสัมพันธ์ต่อโลกมุสลิมที่ตุรกีกำลังถือบทบาทนำ อย่างไรก็ตามภายหลังจากการได้รับชัยชนะแล้ว วิธีการที่พรรคอัคจะจัดการกับเสียงวิจารณ์ที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในการเมืองตุรกี โดยเฉพาะกับเรื่องปัญหาคอรัปชั่นและการใช้อำนาจที่เสี่ยงต่อการเป็นไปในรูปแบบเผด็จการก็ยังคงเป็นข้อท้าทายหลัก ที่จะส่งผลต่อระยะเวลาของอำนาจที่จะมีต่อไปด้วยเช่นกัน