วันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ตุรกีหลังเลือกตั้งกับฉากใหม่ของสงครามเศรษฐกิจ


ยาสมิน ซัตตาร์


นับตั้งแต่ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของประเทศตุรกีล่าสุดในวันที่ 24 มิถุนายน ที่ส่งผลให้แอรโดก์อานสามารถคว้าชัยชนะได้อีกครั้งและเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศสู่ระบอบประธานาธิบดี มาซึ่งคำวิพากษ์วิจารณ์จากโลกตะวันตกเป็นจำนวนมากในประเด็นความเป็นเผด็จการที่จะมีมากขึ้นของแอรฺโดก์อาน แต่ขณะเดียวกันก็นำมาซึ่งความยินดีของโลกมุสลิมหลายๆประเทศต่อชัยชนะในครั้งนี้ การปะทะกันระหว่างการสร้างภาพลักษณ์สองแบบของแอรฺโดก์อานกลายเป็นเรื่องราวที่เห็นได้ชัดผ่านสื่อต่างๆ ระหว่างสื่อตะวันตกและสื่อโลกมุสลิม ขณะเดียวกันเรื่องราวของแอรฺโดก์อานยังถูกถกเถียงผ่านโซเชี่ยลมีเดียอย่างกว้างขวาง ประเด็นต่างๆ ที่รัฐบาลพรรคยุติธรรมและการพัฒนาหรือพรรคอัค ได้ดำเนินการมา ถูกหยิบยกมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่เป็นปัจจัยสนับสนุน หรือเรื่องการจับกุมนักข่าวและนักวิชาการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มกุลเลนซึ่งเป็นปัจจัยค้าน แม้กระทั่งหลังเกิดเหตุการณ์ซึ่งนักเตะเชื้อสายตุรกีชาวเยอรมัน ต้องลาออกจากทีมเพราะถูกเหยียดเชื้อชาติภายหลังจากทีมเยอรมันพ่ายแพ้ในบอลโลก และก่อนหน้านั้นมีรูปที่นักบอลคนนี้ถ่ายคู่กับแอรฺโดก์อาน ประเด็นนี้ก็กลายเป็นเรื่องถกเถียงไปพร้อมๆ กับภาพลักษณ์แอรฺโดก์อาน แม้กระทั่งในประเทศไทยเอง แม้ว่าแอรฺโดก์อานจะเผชิญกับแรงเสียดทานและชุดวาทกรรมที่ผลิตสร้างเพื่ออธิบายความเป็นแอรฺโดก์อานมากสักเท่าไหร่แต่แอรฺโดก์อานก็ยังคงชนะการเลือกตั้งและอยู่ในตำแหน่งต่อไป ท่ามกลางข้อถกเถียงที่ยังคงมีต่อ โดยเฉพาะการเลือกให้ลูกเขยมาเป็นรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ
บททดสอบสำคัญอีกครั้งของแอรฺโดก์อานเริ่มขึ้นเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อตุรกีอย่างเห็นได้ชัด เมื่อสหรัฐฯ ประกาศให้ตุรกีปล่อยตัวแอนดริว บรันซัน นักบวชคริสเตียนชาวสหรัฐฯ ซึ่งถูกจับในข้อหาการให้การสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ดและกลุ่มเฟโต้ของกุลเลน ที่นับได้ว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายสำหรับตุรกี แต่ตุรกีปฏิเสธที่จะปล่อยตัว ทำให้สหรัฐฯใช้เป็นข้ออ้างในการประกาศขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมกับตุรกีเป็น 50% และ 20% โดยส่งผลให้ค่าเงินลีร่าอ่อนตัวหนักที่สุดในรอบปีนับตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม กระทั่งวันที่ 13 สิงหาคม ไปแตะที่ต่ำที่สุดที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 6.95 ลีร่า แต่หลังจากนั้นกระทั่งวันที่ 17 สิงหาคม ค่าเงินก็เริ่มกระเตื้องขึ้นอีกครั้ง แต่ก็ค่อยๆ ขึ้นทีละนิดไปแต่ที่ 6.04 ลีร่า ในวันที่ 20 สิงหาคม อีกครั้ง





กราฟ 1 อัตราแลกเปลี่ยนดอลล่าร์สหรัฐ/เตอร์กิชลีร่าในรอบสามเดือน

กราฟ 2 อัตราแลกเปลี่ยนดอลล่าร์สหรัฐ/เตอร์กิชลีร่าในรอบหนึ่งสัปดาห์
ที่มา https://markets.businessinsider.com/currencies/usd-try

แน่นอนว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ได้มีผลมาจากแค่เพียงเหตุการณ์เดียวที่ส่งผลทำให้เกิดความผันผวนทางการเงินหนักขนาดนี้ และคงไม่ใช้ปัจจัยเดียวที่ทำให้สหรัฐฯ หันมาใช้มาตรการทางเศรษฐกิจกับตุรกี สองปัจจัยหลักเนื่องจากความสัมพันธ์ที่ไม่สู้ดีหนักระหว่างตุรกีและสหรัฐฯในช่วงที่ผ่านมา และปัญหาเศรษฐกิจภายในตุรกีเองที่สะสมมาต่อเนื่องและยังไม่ได้รับการแก้ไข จึงทำให้ปัญหาลุกลามถึงขั้นวิกฤต ขณะเดียวกันผลของปัญหาในครั้งนี้ยังทำให้เกิดผลกระทบต่อตลาดการเงินในหลายประเทศ เช่น บางประเทศในยุโรป หรือ อินเดีย เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาครั้งนี้ก็ทำให้เห็นว่าตุรกียังคงมีความสำคัญกับหลายประเทศ จากความพยายามทางการทูตรวมถึงการเพิ่มความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับหลายประเทศ ในช่วงที่ต้องการเป็นอิสระจากสหรัฐฯมากขึ้น และเริ่มหันมาใช้นโยบาย Look East ซึ่งเพิ่มระดับความสัมพันธ์กับรัสเซียและจีน นโยบายแบบนี้จึงทำให้ตุรกีได้มิตรที่พร้อมช่วยในสถานการณ์เช่นนี้ไม่น้อย จึงนับได้ว่าปรากฏการณ์นี้เป็นอีกกรณีศึกษาที่น่าสนใจ สำหรับการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุคปัจจุบัน ที่กระบวนการกดดันทางเศรษฐกิจอาจส่งผลกระทบได้ในระดับหนึ่งแต่อาจไม่เฉียบคมเท่าอดีตก็เป็นได้

ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-ตุรกี: ไม่ใช้มิตรแท้ หรือศัตรูถาวร
          นับตั้งแต่อดีตหลังจากประกาศเป็นสาธารณรัฐตุรกี ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและตุรกีนับได้ว่ามีความใกล้ชิดกันมา ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และช่วงสงครามเย็น ตุรกีเป็นประเทศที่ประกาศตนเป็นพันธมิตรที่ชัดเจนต่อสหรัฐฯ ขณะเดียวกันสหรัฐฯก็ให้ความช่วยเหลือกับตุรกีทั้งด้านเศรษฐกิจและการทหาร ในแง่หนึ่งการเป็นพันธมิตรต่อสหรัฐฯ ในเวลานั้นก็เพื่อป้องกันภัยคุกคามจากสหภาพโซเวียต เพื่อสนับสนุนสหรัฐฯในช่วงสงครามเย็น ตุรกีได้ร่วมรบในสงครามเกาหลี กระทั่งในปี 1952 ตุรกีก็ได้เข้าเป็นสมาชิกนาโต้ หลังจากนั้น 2 ปี สหรัฐฯยังสร้างฐานทัพอินจิรฺลิคขึ้นในตุรกี โดยที่ฐานทัพนี้นับได้ว่าเป็นฐานทัพหลักที่สหรัฐฯใช้ทำสงครามกับประเทศตะวันออกกลางในเวลาต่อมา แต่เริ่มมีปัญหาให้เห็นบ้างกรณีไซปรัสซึ่งตุรกีเห็นต่างจากสหรัฐฯ กระทั่งเกิดการระงับการซื้อขายอาวุธให้ตุรกี อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯก็กลับมามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับตุรกีอีกครั้งเมื่อเกิดการปฏิวัติในอิหร่าน ซึ่งสหรัฐฯ ต้องการพันธมิตรเพื่อรับมือกับสถานการณ์ทางการเมืองที่เริ่มเปลี่ยนไปในภูมิภาคตะวันออกกลาง และเมื่อโอซาลขึ้นปกครอง ทิศทางของรัฐบาลในเวลานั้นจะเน้นเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหลักและมีการซื้อขายอาวุธระหว่างสองประเทศชัดเจนขึ้น ในช่วงนี้สหรัฐฯยังช่วยสนับสนุนให้ IMF ยอมให้ตุรกีกู้ ขณะเดียวกันยังเลือกที่จะเพิกเฉยไม่วิพากษ์วิจารณ์เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นที่เคยทำ และยังไม่กดดันตุรกีในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งกับชาวเคิร์ด ต่อมาภายหลังจากสงครามเย็น แม้ว่าจะไม่มีแรงกดดันจากโซเวียตและเริ่มเห็นชัดว่าไม่สามารถเข้าร่วมในสหภาพยุโรปได้ ตุรกีจึงจำเป็นต้องสนับสนุนสหรัฐฯ เช่น การเข้าร่วมในสงครามอ่าว แต่อย่างไรก็ตามในเวลานั้น ตุรกีเริ่มเปิดตัวเอง และสร้างความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ มากขึ้น โดยเฉพาะประเทศในแถบบอลข่านและเอเชียกลาง ซึ่งมีอัตลักษณ์และฐานภาษาที่คล้ายคลึงกับหลายประเทศ ขณะเดียวกันก็เริ่มเปิดเข้าสู่ประเทศแถบแอฟริกา โดยในช่วงเวลานี้กลุ่มนักเคลื่อนไหวมุสลิมซึ่งทำงานด้านการให้ความช่วยเหลือเชิงมนุษยธรรมได้เริ่มทำงานในเขตพื้นที่ขัดแย้งหลายๆที่  ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและตุรกียังคงเป็นไปในเชิงบวก กระทั่งเกิดสงครามอิรัก ที่นำมาซึ่งข้อถกเถียงในสังคมตุรกีเป็นจำนวนมาก ว่าตุรกีควรมีส่วนร่วมในสงครามครั้งนั้นหรือไม่ เนื่องจากสงครามในครั้งนั้นสหรัฐฯได้ฝึกฝนอาวุธในชาวเคิร์ดในอิรัก ซึ่งตุรกีกังวลว่าจะส่งผลต่อความมั่นคงภายในที่มีกลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ดอยู่เช่นกัน ขณะที่สังคมตุรกีได้ถกเถียงถึงความชอบธรรมของสงครามในครั้งนั้น ความไม่ชัดเจนในการสนับสนุนของตุรกีครั้งนี้เริ่มส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ และเริ่มเห็นถึงความไม่ลงรอยอีกครั้งในปี 2007 ในกรณีที่สหรัฐฯมีการพูดถึงสงครามระหว่างอาร์มาเนียและออตโตมานว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่ประเด็นนี้ถูกแก้ไขเมื่อประธานาธิบดีโอบามาเข้าสู่ตำแหน่ง
ความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีและสหรัฐภายใต้รัฐบาลพรรคอัค มีความอิหลักอิเหลื่อมาตลอด ในแง่หนึ่งแล้ว ความร่วมมือในหลายๆ มิติทั้งการค้าและการทหารยังคงดำเนินไป ขณะเดียวกันก็มีเหตุการณ์ที่กระทบกระทั่งกันบ่อยครั้ง โดยเฉพาะเรื่องการสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ดของสหรัฐฯ ในสงครามซีเรีย ที่แน่นอนว่าเป็นสิ่งที่ตุรกีไม่พอใจ เพราะสำหรับตุรกีแล้วกลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ดนับได้ว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง ขณะเดียวกัน ท่าทีของแอรฺโดก์อานก็เริ่มถูกวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นไปพร้อมๆ กับความนิยมที่มากขึ้นไปด้วย ขณะเดียวกันในช่วงที่ผ่านมาก็จะเห็นถึงประเด็นขัดแย้งที่รุนแรง ไม่ว่าจะเป็นจุดยืนที่ต่างต่อเรื่องซีเรีย ประเด็นการจับกุมนักการธนาคารในสหรัฐฯ ข้อตกลงเรื่องระบบมิซไซล์ S-400 การส่งเครื่องบินเจ็ททหาร F-35 ไปยังตุรกีอย่างล่าช้า และประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ เรื่องที่สหรัฐฯ ไม่ส่งตัวกุลเลน ซึ่งรัฐบาลตุรกีอ้างว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความพยายามก่อรัฐประหารในปี 2016[1] จึงเห็นได้ว่าในช่วงปีที่ผ่านมาความสันพันธ์ระหว่างสองประเทศเริ่มเกิดความไม่ไว้วางใจและความขัดแย้งระหว่างกัน ในแง่หนึ่งแล้ว การที่ตุรกีแสดงจุดยืนที่ชัดเจนในการหันไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดขึ้นกับจีนและรัสเซีย รวมถึงกลุ่มประเทศใน BRICS นับได้ว่าเป็นอีกจุดที่ทำให้สหรัฐฯยิ่งไม่พอใจ 
กระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2018 กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้แบนรัฐมนตรีตุรกี 2 คน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจับกุมนักบวชคริสเตียนชาวสหรัฐฯ ซึ่งถูกจับในข้อหาให้การสนับสนุนการก่อการร้าย ทั้งกลุ่มพีเคเค (กลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ด) และกลุ่มเฟโต้ (กลุ่มเครือข่ายของเฟตุลลอฮ์ กุลเลน) ต่อมาในวันที่ 10 สิงหาคม สหรัฐฯ เริ่มเพิ่มภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมจากตุรกี และเรียกร้องให้ตุรกีปล่อยตัวนักโทษชาวสหรัฐฯ และบอกว่านักบวชชาวคริสเตียนที่ถูกจับนั้นบริสุทธิ์ ตุรกีจึงมีการตอบโต้และกล่าวว่าพฤติกรรมของสหรัฐฯ นั้นเป็นตัวบังคับให้ตุรกีต้องหาพันธมิตรใหม่ แต่แน่นอนว่าผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้ไม่เพียงแต่เพราะท่าทีของสหรัฐฯที่ประกาศฝ่ายเดียวในสิ่งที่ขัดต่อมารยาทและกฎของข้อตกลงการค้าโลก แต่ยังมีปัจจัยประกอบที่ทำให้เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นนั่นคือ ภาวะเศรษฐกิจที่สั่นคลอนภายในตุรกีเอง

เศรษฐกิจตุรกีในช่วงทศวรรษหลังกับผลกระทบของสงครามเศรษฐกิจต่อตุรกี
          เศรษฐกิจของตุรกีในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ภายใต้การบริหารของพรรคอัคนับได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ทำให้เศรษฐกิจตุรกีค่อยๆ ฟื้นฟูขึ้น จึงทำให้ตุรกีเองเริ่มดำเนินนโยบายอย่างเป็นอิสระมากขึ้น ก่อนหน้านี้ เศรษฐกิจตุรกียึดติดกับสหรัฐฯและยุโรปเพียงอย่างเดียว กระทั่งนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของโอซาลที่ทำให้ตุรกีหันมาพัฒนามิตินี้อย่างจริงจังและเริ่มเปิดตลาดที่หลากหลายขึ้น แม้ว่ายุโรปจะยังคงเป็นคู่ค้าหลักเสมอมา อย่างไรก็ตาม ในยุคนี้ตุรกีได้กู้เงินจาก IMF เพื่อสนับสนุนแผนพัฒนาเศรษฐกิจ เมื่อพรรคอัคเข้ามาบริหารเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนต้องการผู้มาช่วยพยุงเศรษฐกิจตุรกีในเวลานั้น จึงทำให้พรรคทางเลือกอย่างพรรคอัคมีโอกาสเข้ามา และปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ประชาชนยังคงเลือกพรรคอัคเข้ามาอีกหลายสมัยกระทั่งถึงปัจจุบัน ประเด็นที่แอรฺโดก์อานพยายามตอกย้ำให้เห็นถึงความสำเร็จของพรรคอัค นั่นก็คือ การชำระหนี้ IMF ได้ และความสามารถในการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนตัวเลข GDP ที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่อย่างไรก็ตามภายใต้การดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด ทำให้ตุรกีต้องเผชิญกับฐานทางเศรษฐกิจที่พร้อมได้รับการกระทบกระเทือน โดยเฉพาะปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ก่อตั้งสาธารณรัฐตุรกี แต่อัตราเงินเฟ้อเริ่มผ่อนคลายลงในช่วงพรรคอัคเข้ามาบริหารประเทศ อย่างไรก็ดี ปัญหาเงินเฟ้อก็ยังนับเป็นปัญหาสำคัญที่ตุรกีเผชิญเสมอมา หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้พรรคอัคไม่สามารถแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้ ก็เพราะการห้ามไม่ให้ธนาคารกลางเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลต่อคะแนนนิยมของพรรคอัคที่จะลดลง รวมไปถึงอาจเป็นเพราะความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับมิติศาสนา ที่มองว่าดอกเบี้ยจะไม่ส่งผลดีใดๆ

กราฟ 3 อัตราเงินเฟ้อของประเทศตุรกี

          หากมองในประเด็นค่าเงินลีร่า ก็จะเห็นว่าค่าเงินลีร่าก็เริ่มอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลล่าร์สหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ในแง่หนึ่งก็อาจมองได้ว่าเป็นผลจากเศรษฐกิจโดยภาพรวมของโลก ปัญหาการไหลออกของเงินดอลลาร์จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบาย แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นผลจากปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งหนี้ต่างประเทศ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด รวมถึงเงินเฟ้อ[2] และปัญหาความมั่นคงและการเมืองที่ตุรกีเผชิญมาตลอดทศวรรษที่ผ่านมา

กราฟ 4 อัตราแลกเปลี่ยนดอลล่าร์สหรัฐ/เตอร์กิชลีร่า
ที่มา https://markets.businessinsider.com/currencies/usd-try

นับตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 61 เมื่อเกิดปัญหาทางการเมืองกับสหรัฐฯ และสหรัฐฯประกาศขึ้นภาษี ส่งผลทำให้ผลกระทบต่อค่าเงินตุรกีเป็นไปอย่างชัดเจนนั้น ก็นับได้ว่าไม่ใช่เรื่องที่เป็นปัญหาใหม่สำหรับตุรกี หากแต่เป็นปัญหาที่คาดการณ์ได้ เพียงแต่การใช้เครื่องมือเพิ่มภาษีของสหรัฐฯ ครั้งนี้ทำให้ปัญหาเกิดผลกระทบที่ชัดขึ้น แน่นอนว่าปัญหาครั้งนี้ส่งผลต่อราคาสินค้าภายในประเทศบางรายการที่อาจสูงขึ้น ขณะเดียวกันก็ส่งผลต่อธุรกิจบางประเภทในประเทศ รวมถึงความเชื่อมั่นที่ลดลงของนักลงทุน ในขณะเดียวกันก็เกิดความกังวลของนักลงทุนโดยทั่วไปว่าจะส่งผลวิกฤตโดมิโนทางการเงินในเอเชียขึ้นอีกครั้ง  ซึ่งหลังจากเหตุการณ์ก็เห็นถึงผลกระทบต่ออินเดีย อาร์เจนติน่าและแอฟริกาใต้ แม้ว่าจะไม่ได้เห็นชัดมากนัก แต่หากปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไขก็อาจส่งผลให้เกิดวิกฤตได้ เนื่องจากตุรกีในฐานะที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ในการเชื่อมโยงทั้งยุโรปและเอเชีย ได้เริ่มขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับหลายประเทศ หากตุรกีล้มแล้ว แน่นอนว่าจะส่งผลต่อตลาดในอีกหลายประเทศก็เป็นได้

มาตรการตอบโต้และความช่วยเหลือ
          ท่าทีการรับมือของตุรกีต่อเหตุการณ์นี้เป็นอีกสิ่งที่น่าสนใจ เนื่องจากสะท้อนให้เห็นถึงการไม่ยอมลงให้สหรัฐฯ อย่างชัดเจน แน่นอนว่าท่าทีแบบนี้จะทำให้เกิดความไม่พอใจจากสหรัฐฯ แต่ตุรกียังเลือกที่จะทำ มาตรการตอบโต้ที่รัฐบาลใช้ในกรณีนี้ หากมองในสองแง่มุม ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง จะเห็นถึงความเชื่อมโยงกันอย่างมีนัยยะสำคัญ มาตรการทางเศรษฐกิจที่ใช้ไม่ว่าจะเป็นมาตรการของธนาคารกลางที่ออกมาช่วยธนาคารและสนับสนุนการลงทุน การให้ประชาชนหันมาถือเงินลีร่าแทนดอลล่าร์ การหาเงินสนับสนุนจากประเทศอื่นๆ เป็นต้น มาตรการทางเศรษฐกิจแบบนี้ แน่นอนว่า ในมุมมองนักเศรษฐศาสตร์จะมองว่าเป็นการแก้ไขปัญหาเพียงชั่วคราวเท่านั้น หากต้องการแก้ไขควรใช้มาตรการอื่นๆ เช่น การปรับอัตราดอกเบี้ยแทน เป็นต้น ขณะที่มาตรการตอบโต้ทางการเมืองดูจะเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดมากกว่า นับตั้งแต่การที่แอรฺโดก์อานประกาศว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ ถือเป็นสงครามเศรษฐกิจ ที่ประชาชนชาวตุรกีต้องร่วมมือกับรัฐบาลในการรับมือ และประกาศบอยคอตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของสหรัฐฯ และให้ประชาชนใช้สินค้าทางเลือกอื่นๆ  ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้เกิดการผลิตมากขึ้นในสิ่งที่ได้รับผลกระทบ ตลอดจนการเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ บางรายการ เช่น ยาสูบ แอลกอฮอล์ และรถยนต์ รวมถึงเครื่องสำอางและข้าว เป็นต้น นอกเหนือจากนั้นยังเน้นย้ำว่าจะไม่ส่งตัวนักโทษคืน เพราะสหรัฐฯเองก็เพิกเฉยกับการส่งตัวกุลเลนมาให้และยังสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ดในซีเรียและอิรัก ในเวลาเดียวกัน ยังมีการใช้เครื่องมือเชิงอำนาจอ่อนอื่นๆ จากตุรกีในการตอบโต้ ไม่ว่าจะเป็นการปราศรัยของแอรโดก์อานเองหรือรัฐมนตรีการคลังและรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ รวมไปถึงการแสดงสัญญะเช่น การปล่อยตัวประธานแอมเนสตี้ในตุรกีที่โดนจับข้อหาที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มกุลเลนเช่นกัน นักวิเคราะห์บางคนมองว่าการที่ตุรกีปล่อยตัวในเวลานี้เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่าหากตุรกีบริสุทธิ์หรือหากต้องการปล่อยตัว กระบวนการศาลก็เป็นเรื่องภายในของตุรกีโดยเฉพาะในมิติที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง หรือแม้แต่การเรียกประชุมประเทศที่เกี่ยวข้องเรื่องปัญหาซีเรียยกเว้นสหรัฐฯ เป็นต้น
          อีกหนึ่งการตอบโต้ที่สำคัญคือ การแสดงสัญญะของตุรกีว่า ตุรกีสามารถหาตลาดทางเลือกอื่นๆได้ ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย จีน ประเทศในกลุ่ม BRICS หรือแม้แต่ประเทศในตะวันออกกลางอย่างกาต้าร์เอง หลังจากการขึ้นภาษีจากสหรัฐฯ กาต้าร์ก็ประกาศให้เงินลงทุนในตุรกี 15 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ขณะที่รัสเซียประกาศลดข้อจำกัดด้านการขอวีซ่าเพื่อให้ชาวรัสเซียกลับมาท่องเที่ยวในตุรกีมากเช่นก่อนหน้าเกิดเหตุการณ์ยิงเครื่องบินรัสเซียตก หรือการประกาศประณามการกระทำของสหรัฐฯจากอิหร่าน และการประกาศสนับสนุนเศรษฐกิจของตุรกีของเยอรมันและธนาคารยุโรป เป็นต้น กลุ่มประเทศมุสลิมที่เคยได้รับการสนับสนุนและการช่วยเหลือจากตุรกีก็ไม่เห็นด้วยกับสหรัฐฯ และประกาศจุดยืนการถือเงินลีร่า เป็นต้น แม้ว่าการสนับสนุนบางอย่างอาจไม่ได้ส่งผลมากนักต่อการช่วยปรับค่าเงินตุรกีให้คงที่เวลานี้ แต่ก็เป็นสัญญะของท่าทีการช่วยเหลือในอนาคตหากเหตุการณ์บานปลายที่เห็นได้ค่อนข้างชัด

บทสรุป: แนวโน้มของตุรกีและความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ
หากดูข้อมูลตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา จะเห็นว่าหลายครั้งที่ความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีกับสหรัฐฯ อยู่ในภาวะที่กลืนไม่เข้า คายไม่ออก แต่ก็สามารถผ่านมาได้ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และตุรกีในฐานะสมาชิกนาโต้ เป็นสิ่งที่ยากที่จะกลายเป็นศัตรูถาวรต่อกัน อย่างที่ประโยคคลาสสิคในการเมืองระหว่างประเทศว่าไว้ว่า “ไม่มีมิตรแท้ และศัตรูถาวร” ความสัมพันธ์ของตุรกีกับเหล่าประเทศมหาอำนาจก็เป็นเช่นนั้น แม้ว่าตุรกีจะมีปัญหากับสหรัฐฯ ในหลายประเด็นก่อนหน้ารวมถึงประเด็นนี้ กับยุโรปในประเด็นผู้ลี้ภัยและปัญหาทางการเมืองหลายครั้ง กับรัสเซียในประเด็นยิงเครื่องบินตกถึงขั้นเคยลดความสัมพันธ์ทางการทูตและแบนสินค้าและการท่องเที่ยว หรือกับจีนในปัญหาเรื่องชาวอุยกูร์ซึ่งตุรกีสนับสนุน แต่ตุรกีก็มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ที่ไม่สามารถมองข้ามได้ ไม่ว่าจะเรื่องการแก้ไขปัญหาซีเรีย ผลประโยชน์เรื่องแก๊ซที่ผ่านตุรกีสู่บอลข่าน ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจบางประการ ปัญหาผู้ลี้ภัยที่ตุรกีรับไว้อยู่ รวมไปถึงการค้าและการลงทุนที่ตุรกีทำเพิ่มมากขึ้นกับหลายๆ ประเทศ เหล่านี้ทำให้การทำลายตุรกีจึงอาจไม่ใช้เป้าหมายสำหรับประเทศมหาอำนาจเหล่านี้ เพราะในแง่หนึ่งตุรกียังมีความสำคัญและผลประโยชน์ร่วมกันอย่างเห็นได้ชัด แต่แน่นอนว่าท่าทีของแอรฺโดก์อานเองก็ไม่ได้เป็นที่ชื่นชมในประเทศเหล่านี้ เมื่อมีโอกาสจึงจำเป็นต้องแสดงสัญญะบางประการเพื่อตักเตือน ถึงที่สุดความสัมพันธ์ของตุรกีกับสหรัฐฯเองก็คงไม่ต่างกันนักเมื่อมองภาพความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีกับรัสเซียในประเด็นขัดแย้งก่อนหน้านี้ แต่ความสัมพันธ์ในเวลานี้ก็เริ่มกลับมาดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามยังต้องรอดูต่อไปว่าสหรัฐฯจะปล่อยให้ปัญหานี้ยาวนานแค่ไหน นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าเป็นไปได้สูงที่สถานการณ์อาจดีขึ้นก่อนหรือหลังการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ หลายคนนมองว่า แค่เพียงประเด็นของแอนดริว แบรนซัน ซึ่งถูกจับตั้งแต่ปี 2016 ไม่น่าจะใช่เหตุผลที่แท้จริงสำหรับท่าทีของสหรัฐฯ หากแต่เป็นเครื่องมือหนึ่งที่สหรัฐฯสามารถใช้ได้ในเวลานี้ เพื่อเรียกร้องกระแสชาตินิยมในประเทศให้เกิดขึ้น โดยที่การวิเคราะห์ของนักวิชาการระหว่างประเทศหลายท่านมักมองว่า การแซงชั่นทางเศรษฐกิจ เป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ชัด เมื่อการทูตหรือการใช้โฆษณาชวนเชื่อ แม้แต่เครื่องมือของอำนาจอ่อนอื่นๆ รวมไปถึงการโจมตีโดยอ้อมไม่ประสบผลสำเร็จ ขณะเดียวกันในภาวะที่อำนาจแข็งผ่านการทหารไม่สามารถทำได้ง่ายนัก ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลเรื่องศักยภาพทางทหารของอีกฝ่าย หรือ การที่อีกฝ่ายไม่ได้เป็นรัฐที่ล้มเหลว (failed state)
เช่นเดียวกับที่แอรฺโดก์อานเองก็ใช้เหตุการณ์ครั้งนี้ในการปลุกกระแสชาตินิยมของชาวเติร์ก ที่มักจะสู้ไม่ถอย เช่นเดียวกับกรณีที่ประชาชนออกมาสู้ในการต่อต้านการปฏิวัติปี 2016 ในขณะเดียวกัน การมองว่าปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการคุกคามของต่างประเทศ ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่จะเป็นการผลักเหตุผลของปัญหาเศรษฐกิจในการตอบคำถามของประชาชนได้ในระดับหนึ่งก็เป็นได้ แต่อย่างไรก็ตามปฏิเสธไม่ได้ว่าผลที่เกิดขึ้นจะทำให้ชาวตุรกีไม่น้อยที่ได้รับผลกระทบและไม่พอใจ
สิ่งที่น่าสนใจในอนาคตจากกรณีนี้อาจไม่ใช่เพียงความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีและสหรัฐฯเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นคำถามต่อความเป็นพันธมิตรที่เห็นในเวลานี้ ถึงที่สุดแล้วจะเป็นพันธมิตรได้ถึงระดับไหนสำหรับประเทศมหาอำนาจในกลุ่ม BRICs หรือแม้แต่กับประเทศอื่นๆ ที่ตุรกีเคยให้ความช่วยเหลือมาก่อน เห็นชัดเจนว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุคปัจจุบันไม่สามารถตอบคำถามนี้อย่างชัดเจน หากแต่ตอบได้ว่าในแต่ละสถานการณ์คงขึ้นอยู่กับการได้รับหรือการเสียผลประโยชน์ก็อาจเป็นได้ ฉะนั้นแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีและประเทศทางเลือกอื่นๆ ที่เป็นพันธมิตรในครั้งนี้ก็ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าจะไม่เกิดความขัดแย้งกันในอนาคต
สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ หากมองข้ามปัญหาระหว่างตุรกีและสหรัฐฯแล้ว ปัญหาเศรษฐกิจที่เปราะบางภายในตุรกีเองเป็นข้อท้าทายที่สำคัญยิ่งกว่าสำหรับตุรกีภายใต้ระบอบประธานาธิบดี และภายใต้ประธานาธิบดีแอรฺโดก์อาน อย่างน้องก็อีกภายใน 5 ปีข้างหน้านี้ รัฐบาลคงไม่สามารถหาเหตุผลในการบอกประชาชนว่าประเทศอื่นเป็นต้นเหตุของปัญหาได้ทุกครั้ง แต่มาตรการแบบไหนที่ตุรกีจะใช้ หากไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยหรือกู้ยืม IMF นอกเหนือจากการได้รับเงินสนับสนุนการลงทุนจากประเทศพันธมิตรแล้ว มาตรการระยะยาวนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย ขณะเดียวกัน การรับมือกับข้อท้าทายที่ตุรกีอาจต้องรับมือหนักขึ้นในอนาคต หากยังคงมีการแสดงสัญญะของการต่อต้านที่เห็นชัด สำหรับตุรกียิ่งเป็นความหวังของโลกมุสลิมมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้ความท้าทายที่ตุรกีต้องเผชิญยิ่งหนักขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าในแง่หนึ่ง “คุณค่า” หรือ “กรอบคิดสากล” บางชุด ถูกวางไว้ในแบบตะวันตก ก็อาจส่งผลให้เกิดการผลัก “ความต่าง” หรือ “ความคิดที่ไม่เหมือน” ออกไป ในสถานการณ์เช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจมีคนไม่น้อยที่ทั้งเชียร์ และ ซ้ำเติมตุรกี ฉะนั้นแล้วการรับมือกับผลของนโยบายต่างประเทศที่แข็งกร้าวขึ้นภายใต้แอรฺโดก์อานก็เป็นอีกข้อท้าทายสำคัญสำหรับตุรกีเช่นกัน
แต่อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นเพื่อเป็นมาตรการตอบโต้ระหว่างกัน ก็อาจเป็นที่คาดเดายากว่าจะไปถึงจุดไหน ล่าสุดในวันที่ 20 สิงหาคม เกิดเหตุการณ์การยิงเข้าไปในสถานทูตสหรัฐฯในอังการ่า ซึ่งการตอบโต้ของสหรัฐฯ ครั้งนี้จะเป็นอย่างไรก็เป็นสิ่งที่น่าติดตามไม่น้อย แม้ว่าในวันก่อนหน้าก็ยังเห็นข่าวจากรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศที่ว่าจะเดินหน้าโรดแม๊พมันบิจญ์ในประเด็นเกี่ยวกับการลาดตระเวนร่วมกันกับสหรัฐฯในอิรักตอนเหนือ





[1] Erkin Sahinoz. How could Turkey overcome its currency woes?. Retrieved on 17 August 2018 from https://www.aljazeera.com/indepth/opinion/turkey-overcome-currency-woes-180814152206750.html
[2] อารยะ ปรีชาเมตตา. 2561.  วิกฤติค่าเงินของตุรกี: เมื่อการเมืองนำเศรษฐกิจ. เข้าถึงเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2561 จาก http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/645307 

วันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ตุรกีกับการเลือกตั้งปี 2018: จุดเปลี่ยนระบบการปกครองประเทศสู่รูปแบบประธานาธิบดี

ยาสมิน ซัตตาร์

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2018 นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับการเมืองตุรกี สำหรับคนที่ติดตามการเมืองตุรกีในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีความพยายามในการนำเสนอเรื่องการเปลี่ยนรูปแบบการปกครองประเทศสู่ระบอบประธานาธิบดีมาช่วงเวลาหนึ่งแล้ว สังคมตุรกีมีการถกเถียงถึงประเด็นนี้อย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเหมาะสม รูปแบบ หรือความพร้อมของประชาชนต่อรูปแบบการปกครองในครั้งนี้ กระทั่งเกิดการทำประชามติขึ้นในปี 2017 เพื่อปรับเปลี่ยนรัฐธรรมนูญที่รวมไปถึงการเปลี่ยนการปกครองสู่รูปแบบประธานาธิบดี ซึ่งมีชาวตุรกี 51.41 เปอร์เซ็นต์ ตอบรับการปรับเปลี่ยนในครั้งนี้ แน่นอนว่ายังเป็นเรื่องราวที่ถูกถกเถียงนับต่อจากนั้นเรื่อยมา เนื่องจากผลคะแนนที่ชนะในครั้งนั้นมีความใกล้เคียงกันมาก แสดงให้เห็นว่ายังมีชาวตุรกีไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วย
การปรับเปลี่ยนแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนั้นระบุว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีจะมีขึ้นในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2019 แต่ด้วยกับเหตุผลด้านความมั่นคง โดยเฉพาะภัยคุกคามจากประเด็นซีเรีย ตลอดจนประเด็นความขัดแย้งและปฏิบัติการต่อกลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ดในซีเรียและในอิรัก  ทำให้เกิดข้อเสนอในการเลือกตั้งให้เร็วขึ้นมา เพื่อให้ประธานาธิบดีมีอำนาจสั่งการเพียงพอในการรับมือต่อประเด็นนี้ โดยข้อเสนอนี้ถูกนำเสนอโดยหัวหน้าพรรค MHP พรรคสายชาตินิยมที่ร่วมเป็นพันธมิตรกับพรรครัฐบาลปัจจุบัน จากนั้นประธานาธิบดีเรเจบ ตอยยิบ แอรโดก์อาน  ก็ขานรับข้อเสนอนี้และเสนอสภาให้มีการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ซึ่งเร็วกว่าที่กำหนดไว้ถึง 1 ปี 4 เดือน อย่างไรก็ดีมีหลายบทวิเคราะห์มองว่าการเสนอให้เลือกตั้งเร็วขึ้นเป็นเพราะว่าสภาพเศรษฐกิจกำลังอยู่ในขาลง หากปล่อยไว้นานไปอาจทำให้ประชาชนไม่พอใจมากขึ้น เนื่องจากปัจจัยหลักที่ทำให้พรรคอัครักษาอำนาจได้ยาวนานปัจจัยหนึ่งคือ เรื่องเศรษฐกิจ รวมไปถึงประเด็นความมั่นคงจากประเทศในภูมิภาคที่นับได้ว่าตุรกีเองก็มีภาวะคุกคามไม่น้อย นอกจากนั้น บางการวิเคราะห์ก็มองว่าแอรโดก์อานต้องการให้อย่างน้อยตนเองอยู่ในตำแหน่งในปี 2023 ซึ่งนับเป็นปีที่จะครบรอบ 100 ปีของสาธารณรัฐตุรกี และช่วงเวลาที่ระบบคิลาฟะห์ในออตโตมานเดิมสูญสลาย แน่นอนว่าการครบวาระในปีดังกล่าวก็อาจทำให้มีปัจจัยเอื้อต่อการหาเสียงได้ต่อไปอีก
สำหรับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองในครั้งนี้ สาระสำคัญของการเปลี่ยนแปลง คือ การให้ประธานาธิบดีที่เดิมมีอำนาจในลักษณะที่เป็นพียงสัญลักษณ์ของประเทศ เปลี่ยนสู่การให้อำนาจทั้งในฝ่ายบริารและตุลาการ   ประธานาธิบดีจะมีอำนาจในการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีซึ่งรวมถึงรองประธานาธิบดี ออกกฎหมายที่ไม่ขัดกับกฎหมายเดิมหรือรัฐธรรมนูญ ประธานาธิบดีมีสิทธิออกเสียงคัดค้านมติสภาขณะเดียวกันสภามีสิทธิยับยั้งการตัดสินใจของประธานาธิบดีด้วยเสียงเอกฉันท์  ขณะเดียวกันผู้พิพากษาในศาลรัฐธรรมนูญก็จะได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี 12 คน และอีก 3 คนจากสภา ประธานาธิบดียังมีอำนาจในการประกาศภาวะฉุกเฉินซึ่งต้องไม่เกิน 6 เดือน งบประมาณแผ่นดินจะถูกร่างผ่านประธานาธิบดีเข้าสู่สภา กรรมการบริหารระดับสูงขององค์กรรัฐ รวมถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัย จะถูกแต่งตั้งจากประธานาธิบดี   เป็นต้น โดยการเพิ่มอำนาจให้กับประธานาธิบดีลักษณะนี้ถูกนำเสนอมาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดี Demirel และ Özal หากแต่เริ่มชัดขึ้นในปี 2005 ที่เริ่มมีการถกเถียงในสังคมตุรกีมากขึ้น และเพิ่งมาชัดเจนหลังการเกิดความพยายามรัฐประหารในปี 2016 การเปลี่ยนรูปแบบนี้ถูกอธิบายว่าเป็นแนวทางในการรับมือกับประเด็นความมั่นคงภายในทั้งจากกองทัพ กลุ่มเฟโต้และกลุ่มติดอาวุธ PKK รวมถึงความมั่นคงภายนอกจากภัยคุกคามต่างๆ รอบๆ บ้าน  ซึ่งระบบนี้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มฝ่ายค้านและตะวันตกว่าเป็นความพยายามในการทำให้ตุรกีกลายเป็นประเทศเผด็จการหรืออเสรีนิยมประชาธิปไตย เพราะระบบเช่นนี้สามารถปูทางให้แอรโดก์อานมีอำนาจไปอีกหลายปี และยังให้อำนาจเต็มรูปแบบแก่แอรโดก์อาน ในการบริหารปกครองประเทศ
ในส่วนของรูปแบบการเลือกตั้งทั้งประธานาธิบดีและผู้แทนในสภาจำนวน 600 ที่นั่ง จะถูกเลือกในวันเดียวกัน ทุกๆ 5 ปี  โดยผู้สมัครสมาชิกผู้แทนสามารถมีอายุอย่างน้อย 18 ปี และไม่จำเป็นต้องผ่านการเกณฑ์ทหารมาก่อน  โดยการเลือกตั้งประธานาธิบดีจะใช้ระบบสองรอบ คือ หากไม่มีผู้ชนะเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ จะต้องมีการเลือกตั้งใหม่ โดยให้ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดสองคนมาแข่งขันกัน
การเลือกตั้งในครั้งนี้มีสิ่งที่น่าสนใจคือ มีการร่วมมือกันระหว่างพรรคการเมืองเพื่อเข้าสู่สนามแข่งขันที่มีอำนาจของประเทศเป็นเดิมพัน  ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือระหว่างพรรคอัค ซึ่งเป็นพรรคของแอรโดก์อาน พรรค MHP ซึ่งเป็นพรรคสายชาตินิยมเติร์ก รวมถึงพรรค BBP ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งก็มีการรวมเป็นพันธมิตรของ พรรค CHP ซึ่งมีแนวคิดฝ่ายซ้ายและเคมาลิสต์ พรรค IYI ซึ่งเป็นพรรคเกิดใหม่ที่แยกออกมาจากพรรค CHP เดิม รวมไปถึงพรรค SAADET ที่เป็นพรรคที่ก่อตั้งโดยแอรบาคาน ซึ่งเป็นที่รับรู้โดยทั่วกันว่าเป็นพรรคสายนิยมอิสลาม ซึ่งส่งผลให้เกิดข้อกังขาไม่น้อยกับท่าทีของพรรค SAADET โดยที่นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่าเป็นผลมาจากตัวผู้นำพรรคที่เปลี่ยนไป และได้รับเสียงไม่มากเท่าที่เคยเป็นในยุคแอรบาคานเพราะสายนิยมอิสลามในประเทศหันไปลงคะแนนเสียงให้พรรคอัค ทำให้พรรค SAADET ต้องหาที่ทางและทางเลือกใหม่ให้มีตัวตนขึ้นมา ขณะเดียวกันพรรค HDP ของชาวเคิร์ด ก็ยืนยันไม่ร่วมกับกลุ่มใดและลงสมัครเอง

ผลการเลือกตั้งปี 2018: ชัยชนะอีกครั้งของพรรคอัค
            ผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ แอรโดก์อานยังคงได้รับชัยชนะเช่นเคยด้วยคะแนนเสียง 52.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นคะแนนที่เฉียดฉิวสำหรับการต้องเลือกตั้งใหม่ไม่น้อย แต่ก็ยังคงผ่านเกณฑ์ที่ 50 เปอร์เซ็นต์ ทำให้แอรโดก์อานได้รับชัยชนะในครั้งนี้โดยทันที นายอินเจ่ตัวแทนของพรรค CHP ได้รับเสียงไป 30.7 เปอร์เซ็นต์  และนายเดมิรทาช หัวหน้าพรรค HDP ของชาวเคิร์ดซึ่งอยู่ในคุก ได้รับเสียงไป 8.4 เปอร์เซ็นต์ ส่วนนางอัคซีแนร หัวหน้าพรรค IYI ซึ่งเป็นผู้สมัครผู้หญิงคนเดียวและเริ่มลงเลือกตั้งในครั้งนี้เป็นครั้งแรกก็ได้รับเสียงไป 7.3% ขณะที่ผู้สมัครอีกสองคนได้รับเสียงไปเพียง 0.9 และ 0.2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น



            สำหรับผลการเลือกประธานาธิบดีในครั้งนี้จะเห็นว่าฐานเสียงเดิมในแต่ละเมืองก็ยังคงเป็นไปในทิศทางเดิม แต่ที่น่าสนใจสำหรับเมืองใหญ่อย่างอิสตันบูลและอังการ่า พรรคอัคก็ได้รับเสียงอีกครั้ง สำหรับพื้นที่ของชาวเคิร์ดนั้นยังคงเลือกพรรคของตน แม้ว่าจะมีบางพื้นที่ที่พรรคอัคยังคงได้รับชัยชนะ ส่วนอีกเขตที่เหนือความคาดหมายคือเขต Yalova ที่เป็นบ้านเกิดของนายอินเจ่ ซึ่งพรรคอัคสามาระเอาชนะในเขตนี้ได้ จนนำไปสู่ข้อสงสัยในการโกงการเลือกตั้ง และการไม่ยอมรับผลของฝ่ายค้าน ขณะที่ผลที่ออกมาก็ตรงกับโพลที่มีก่อนหน้าการเลือกตั้งมาแล้ว จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจสำหรับหลายฝ่ายในตุรกีเอง



            สำหรับการเลือกตั้งผู้แทนจำนวน 600 ที่นั่ง ที่เกิดพร้อมกัน พรรคร่วม People’s Alliance ระหว่างพรรค AK MHP และ BBP ได้รับเสียงรวมกัน 53.6 เปอร์เซ็นต์ สามารถเอาชนะและผ่านเกณฑ์ 50 เปอร์เซ็นต์มาได้เช่นกัน คณะที่ Nation’s Alliance ได้รับคะแนนไป 34 เปอร์เซ็นต์ และอีก 12.3 เปอร์เซ็นต์จากพรรคอื่นและผู้ลงสมัครอิสระ


           


สิ่งที่น่าสังเกตจากการเลือกตั้งในครั้งนี้
            การเลือกตั้งในครั้งนี้เป็นอีกครั้งที่น่าสนใจ เพราะนับได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนของการปกครองที่สำคัญของตุรกีเอง ในช่วงก่อน ระหว่างและหลังการเลือกตั้ง สามารถเห็นข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือ
1.       การร่วมมือระหว่างพรรคการเมืองในรูปแบบพันธมิตร
การเลือกตั้งในครั้งนี้นับได้ว่าเป็นเดิมพันที่สำคัญสำหรับหลายๆ พรรค แม้แต่พรรคอัคเอง แต่ละพรรค แม้กระทั่งพรรคใหญ่ไม่มั่นใจว่าตนจะได้รับสียงเพียงพอที่จะได้รับชัยชนะ จึงเกิดความร่วมมือระหว่างพรรคขึ้น การร่วมมือนี้ บ่งชี้ให้เห็นถึงขั้วทางการเมืองในประเทศตุรกีที่มีอยู่อย่างน่าสนใจ สำหรับ People’s Alliance ซึ่งเป็นการรวมตัวของพรรคอัค พรรค MHP สายชาตินิยมเติร์กที่มาเข้าร่วมจากท่าทีของพรรคอัคที่แข็งข้อต่อชาวเคิร์ด ตลอดจนความต้องการในการเป็นพรรครัฐบาล และข้อตกลงที่มีระหว่างหัวหน้าพรรคเอง  นับได้ว่าเป็นการรวมตัวที่เข้มแข็งทีเดียว บวกกับพรรคเล็กอย่าง BBP ที่เข้ามาด้วย ทำให้ฐานเสียงแข็งแรงไม่น้อย ฝ่ายค้านจึงต้องรวมตัวกันภายใต้ Nation’s Alliance ที่รวมเอาพรรคที่มีความเห็นทั้งฝ่ายซ้าย เสรีนิยม และอิสลามิค เข้าด้วยกัน เพื่อให้เห็นความหลากหลาย แต่พรรคที่ถูกเชิญให้เข้าร่วมพันธมิตรอย่าง HDP ซึ่งเป็นพรรคชาวเคิร์ดที่มีฐานเสียงสำคัญที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงได้ ก็ไม่เข้าร่วมในพันธมิตรใด แม้ว่านักวิเคราะห์หลายคนมองว่ากลุ่มพันธมิตรทั้งสองก็ไม่ได้มีท่าทีจริงจังนักสำหรับการดึงพรรคนี้มาร่วมเพราะจะทำให้ฐานเสียงส่วนใหญ่จากชาวเติร์กหายไปได้
2.       ท่าทีของสื่อและการหาเสียงเลือกตั้งในประเทศ
การหาเสียงเลือกตั้งเป็นไปอย่างคึกคักและน่าสนใจ แต่ประเด็นที่เป็นข้อกังขา คือการปิดกั้นเสรีภาพทางสื่อของพรรครัฐบาลที่เป็นประเด็นวิพากษ์มานานแล้ว ทำให้ในพื้นที่สื่อจะเห็นการปรากฏตัวของแอรโดก์อานมากกว่าผู้สมัครคนอื่น ขณะที่หัวหน้าพรรคชาวเคิร์ด ก็ต้องหาเสียงผ่านวิดีโอที่ให้ทนายอัด ขณะที่อยู่ในคุก แม้ว่าสำหรับผู้สมัครท่านอื่นจะไม่มีปัญหาใดๆ ในการปราศรัย ก็ตามที
อีกสิ่งที่น่าสนใจคือการเริ่มต้นปราศรัย ของแอรโดก์อานซึ่งเริ่มที่เมืองอิซมีรที่เป็นฐานเสียงหลักของพรรคฝ่ายค้าน แต่ก็ยังคงไม่สามารถเอาชนะได้ในพื้นที่นี้ และการปราศรัยใหญ่ของพรรคฝ่ายค้านที่เมืองอิซมีรก็มีคนเข้าร่วมจำนวนมากซึ่งสร้างความหวังให้กับฝ่ายค้านมากทีเดียว
ขณะเดียวกัน พรรคฝ่ายค้านเองก็เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับฐานเสียงสายนิยมอิสลามที่เป็นผู้ชี้วัดสำคัญ และดึงเอาพรรค SAADET มาร่วม แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จในการดึงเสียงของคนกลุ่มนี้มา
อย่างไรก็ตาม ผลที่ออกมาก็ไม่ค่อยต่างจากโพลจากหลากหลายสถาบันซึ่งเห็นว่าแอรโดก์อานจะได้รับชัยชนะในครั้งนี้
3.       ท่าทีของสื่อต่างประเทศ
ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างมากในการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะท่าทีของสื่อต่างประเทศในประเทศต่างๆ ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด จะเห็นได้ว่าสื่อตะวันตกและยุโรปจะออกมาสนับสนุนฝ่ายค้านและกล่าวถึงความเป็นเผด็จการของแอรโดก์อาน เสรีภาพที่ถูกปิดกั้นและความอึดอัดของสังคมตุรกีในกลุ่มเสรีนิยมที่ไม่อิงศาสนา ออกมาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็มีโพลที่ชี้ให้เห็นว่าแอรโดก์อานไม่น่าจะเอาชนะได้เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ และเน้นย้ำถึงการกลายเป็นเผด็จการของสังคมตุรกี
ขณะที่สื่อในกลุ่มประเทศมุสลิมโดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับความช่วยเหลือจากตุรกีที่ผ่านมา ก็ให้การสนับสนุนอย่างเห็นได้ชัด ชี้ให้เห็นถึงโพลที่มีโอกาสชนะสูง ขณะเดียวกันยังมีข่าวคราวการจัดกิจกรรมขอพรให้แอรโดก์อานได้รับชัยชนะ โดยกลุ่มนี้ก็มีความกังวลว่าหากแอรโดก์อานไม่ได้รับชัยชนะแล้ว จะไม่มีผู้ที่เป็นปากเสียงให้ประเทศมุสลิมและมุสลิมกลุ่มน้อยที่ถูดกดขี่อีกต่อไป
การปะทะกันของข้อมูลเช่นนี้ จึงเป็นที่น่าสนใจไม่น้อย เมื่อความกังวล มุมมองและทัศนคติ รวมถึงค่านิยมในการเมืองมีความต่างกัน จึงส่งผลให้เกิดผลสะท้อนของข้อมูลที่ต่างกันไป
4.       การเมืองของชาวเคิร์ด
ในทุกๆ ครั้งของการเลือกตั้ง เสียงของชาวเคิร์ดเป็นเสียงที่สำคัญไม่น้อยสำหรับผลการเลือกตั้ง ครั้งนี้เองก็เป็นที่น่าสนใจ แม้ว่าหัวหน้าพรรคจะถูกคุมขังในคุกและมีข้อจำกัดในการกาเสียง แต่กลับยังได้รับเสียงเลือกตั้งในหลายเมือง และผู้แทน 67 คนที่ได้รับเลือกตั้ง  ในครั้งนี้เองยังเห็นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของกลุ่มพื้นที่ชาวเคิร์ดส่วนใหญ่ ที่แม้พรรคอัคจะเรียกคะแนนกลับมาได้ในบางพื้นที่ แต่ส่วนใหญ่ก็ยังคงยึดมั่นกับพรรคของชาติพันธุ์ตนเอง

ถึงที่สุดแล้วสิ่งที่น่าสนใจของตุรกีเอง แม้ว่าระบบของประเทศจะไปในทิศทางใด แม้ว่าจะมีการปิดกั้น แต่ยังคงใช้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือสำคัญในการตัดสินอนาคตและสร้างความชอบธรรมกับอำนาจที่มี และควรเลือกตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดแม้ว่าจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดก็ตามที

ข้อท้าทายสำคัญสำหรับตุรกีภายใต้การนำของแอรโดก์อาน
แน่นอนว่าชัยชนะครั้งนี้มาพร้อมกับข้อท้าทายอันหนักอึ้งสำหรับรัฐบาลชุดปัจจุบัน นับตั้งแต่เรื่องเศรษฐกิจ ที่เป็นความคาดหวังหลักของประชาชนซึ่งต้องการเห็นปัญหาทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาวะเงินเฟ้อและค่าเงินที่ตกลง ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น รัฐบาลจึงต้องพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นอีกครั้งเช่นช่วงที่พรรคอัคได้รับเลือกตั้งเข้ามาในช่วงแรกว่าจะพัฒนาตุรกีให้ก้าวต่อไปได้ถึงจุดไหน หรือจะทำให้ยิ่งถอยลงมา
ขณะเดียวกัน สิ่งที่น่าจับตามอง คือ การบริหารจัดการองค์กรต่างๆ ภายในประเทศ ทั้งองค์กรที่เดิมอยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรีอย่าง TIKA ซึ่งเป็นองค์กรในการดูแลเรื่องการให้ความช่วยเหลือต่างประเทศ และ YTB ผู้ดูแลเรื่องการให้ทุนการศึกษา เป็นต้น องค์กรเหล่านี้จะอยู่ภายใต้กำกับดูแลของหน่วยงานใด นอกจากนั้น อธิการบดีในมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่จะถูกแต่งตั้งจากประธานาธิบดีจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ อย่างไร ประเด็นนี้เป็นอีกข้อท้าทายสำคัญว่าแอรโดก์อานจะจัดวางองค์กรต่างๆ รวมถึงสถาบันการศึกษาให้ไปในทิศทางใด
นอกเหนือจากนั้นความมั่นคงภายในประเทศยังเป็นประเด็นที่สำคัญสำหรับภาวการณ์ของตุรกีเวลานี้ อีกทั้งเหตุผลหลักในการเปลี่ยนรูปแบบการปกครองก็เพราะเรื่องนี้ จึงน่าสนใจว่าแอรโดก์อานจะจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร สิ่งที่น่ากังวลสำหรับหลายๆฝ่าย คือ การเพิ่มบทบาททางทหารอาจทำให้ภาพลักษณ์เดิมของตุรกีสูญเสียไป ในขณะที่หลายฝ่ายก็เห็นว่าเป็นสิ่งจำเป็น เพราะไม่ว่าจะดำเนินการในทางไหน ตุรกีก็มักถูกวิพากษ์ในเชิงลบจากตะวันตกเสมอ ตุรกีจึงควรตัดสินใจทิศทางอนาคตของตัวเอง ในแบบที่เหมาะสมกับตุรกีเอง
การเปลี่ยนจาก Soft Power ไปสู่การใช้ Hard Power มากขึ้น หรือ ที่ถูกให้คำจำกัดความว่าการใช้รูปแบบของ Moral Realism ในการเมืองระหว่างประเทศ เป็นเรื่องที่กำลังถูกพูดถึงมากว่าจะกระทบต่อผลสะท้อนต่อทัศนคติของประเทศที่เคยสนับสนุนตุรกีอย่างไร
และสิ่งที่ท้าทายที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องของท่าทีในการใช้อำนาจของแอรโดก์อานเอง ในเวลานี้ฝ่ายที่วิพากษ์ก็เห็นว่าแอรโดก์อานจะใช้อำนาจที่ได้มาแบบเบ็ดเสร็จ และส่งผลต่อเสรีภาพที่จะยิ่งถูกปิดกั้นมากขึ้น ในขณะที่อีกฝ่ายก็มองว่าอำนาจที่ได้มาจะเป็นความหวังที่เห็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มากขึ้น การคาดการณ์ในแต่ละแบบจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ก็เป็นอีกสิ่งที่สำคัญที่แอรโดก์อานจำเป็นต้องรับมือ และระบบเช่นนี้จะทำให้ตุรกีเข้มแข็งหรืออ่อนแอลง ก็ยังคงเป็นเรื่องที่น่าจับตามองต่อไป

ทิศทางของตุรกีต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สิ่งที่น่าสนใจสำหรับทิศทางของความสัมพันธ์ระหว่างสองภูมิภาค คือ ระหว่างมาเลเซีย ซึ่งนายมะหาเดร์ และนายอันวาร์ อิบรอฮีม เพิ่งได้รับการชัยชนะจากการเลือกตั้งที่ผ่านมา มีอุดมการณ์ทางการเมืองและการเคลื่อนไหวที่ใกล้เคียงกับแอรโดก์อาน ขณะเดียวกันก่อนหน้าการเลือกตั้งไม่กี่วัน นายอันวาร์ ยังถูกเชิญไปเยือนตุรกีและได้ให้สัมภาษณ์รวมถึงกล่าวปาฐกถาในเชิงสนับสนุนแอรโดก์อานด้วยเช่นกัน ฉะนั้นแล้วแน่นอนว่าทิศทางระหว่างตุรกีและมาเลเซียเป็นอะไรที่น่าจับตามองไม่น้อย และมีแนวโน้มจะเป็นไปในเชิงบวก เพราะตุรกีเองก็จำเป็นต้องหาพันธมิตรนอกภูมิภาคมากขึ้น เนื่องจากสภาวะที่มีความสัมพันธ์ไม่สู้ดีกับประเทศอาหรับบางประเทศ โดยเฉพาะหลังการแสดงจุดยืนชัดเจนในการสนับสนุนกาต้าร์ที่ผ่านมา
นอกจากนั้นแล้วอินโดนีเซียยังเป็นอีกประเทศที่น่าสนใจ เพราะนับได้ว่าอาเจะห์เป็นพื้นที่แรกที่ความช่วยเหลือของตุรกีเข้ามาถึงในภูมิภาค และความช่วยเหลือยังคงมีมาอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นเป็นไปได้ที่จะเห็นความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้นไม่ต่างจากมาเลเซีย อีกประเทศที่น่าจับตาคือ ความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีกับพม่า ที่เป็นไปในลักษณะของทั้งเป็นคู่ค้าทางเศรษฐกิจที่สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นประเทศที่วิพากษ์ถึงกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวโรฮิงญาอย่างต่อเนื่องและชัดเจน จึงน่าสนใจว่าทิศทางต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร สำหรับประเทศอื่นๆ รวมถึงไทยเองก็ยังไม่เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดมากนัก เนื่องด้วยการรับรู้ของในกลุ่มประเทศที่ไม่ใช่มุสลิมต่อตุรกีไม่ได้เห็นถึงท่าทีที่ชัดเจนเท่าไหร่นัก แม้ว่าความสัมพันธ์ที่เป็นอยู่ก็อาจจะดำเนินต่อไป แบบที่เป็นไป
อย่างไรก็ดี แน่นอนว่าจะเห็นการให้ความช่วยเหลือต่อพื้นที่ขัดแย้งอย่างต่อเนื่อง แต่หากตุรกีติดกับดักการทำสงครามกับเพื่อนบ้านที่มากเกินไป ก็อาจส่งผลกระทบต่อท่าทีการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมไม่น้อย แต่อย่างไรก็ตามความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมนี้จำเป็นต้องมีต่อไป เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่สร้างความชอบธรรมในการสร้างวาทกรรมการเป็น ประเทศผู้ให้ หรือสุลต่านแห่งโลกมุสลิม ให้ยังคงอยู่ต่อไปได้