หลังจากเกิดเหตุการณ์ระเบิดที่ราชประสงค์เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 58 ที่ผ่านมา ก็มีกระแสที่ออกมาและพยายามเชื่อมโยงผู้ต้องสงสัยให้เกี่ยวโยงกับ ตุรกี นับตั้งแต่การพาดหัวข่าวว่า “แขกขาว” หรือ แม้แต่การเจาะจงว่าเป็น “ชาวตุรกี” เอง โดยที่อ้างว่าเนื่องจากมีความเชื่อมโยงกับการส่งตัวชาวอุยกูร จำนวน 109 คน ไปจีน กระทั่งมีนักวิชาการไทยหลายท่านที่ออกมาคัดค้าน และมองว่าไม่น่าจะมีส่วนเชื่อมโยงต่อชาวอุยกูร และสิ่งที่สื่อยังขาดความเข้าใจคือ ความต่างของชาวตุรกี กับ ชาวอุยกุร (ซึ่งผู้เขียนได้เขียนไว้คร่าวๆ ในบทความครั้งก่อนหน้านี้แล้ว) แล้วสื่อความออกไปให้เป็นที่เข้าใจว่า ชาวตุรกีอาจเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์
ต่อมาทางสถานทูตตุรกีในไทยได้ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์และย้ำจุดยืนในการต่อต้านการก่อการร้ายที่ชัดเจนของตุรกี ประกอบกับพร้อมให้ความช่วยเหลือในการจับกุมหากเป็นชาวตุรกีจริง
หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 58 ก็ปรากฏข่าวว่าได้จับกุมผู้ต้องสงสัยในคดีนี้ไว้ได้แล้ว ก่อนหน้าที่จะมีการระบุชนชาติแน่ชัด ข่าวบางสื่อก็ได้ระบุไปชัดว่าเป็นชาวตุรกี ซึ่งต่อมาก็ปรากฏรายละเอียดของข่าวมากขึ้นว่าได้มีการจับกุมผู้ต้องสงสัย พร้อมกับเครื่องมือประกอบระเบิด รวมถึงหนังสือเดินทางจำนวนหนึ่ง และเมื่อตรวจสอบหนังสือเดินทางของชาวต่างชาติที่ถูกจับกุม ก็พบว่าเป็นหนังสือเดินทางที่อ้างว่าเป็นของตุรกี แต่มีจุดที่ผิดไม่ว่าจะเป็นสถานที่เกิด ที่สะกดชื่อเมืองผิด ไปจนถึงการแปลคำว่าวันที่ออกหนังสือเดินทางในภาษาอังกฤษผิด จึงได้ข้อสรุปว่าเป็นหนังสือเดินทางปลอม นอกจากนั้นก็ยังพบหนังสือเดินทางอีกหลายเล่มในห้องด้วยเช่นกัน
ในกรณีนี้ ทางการตุรกีได้แจ้งผ่านสำนักข่าว Anadolu Agency ว่าได้แจ้งเรื่องต่อทางการไทยในความประสงค์ที่จะดำเนินการเรื่องการใช้หนังสือเดินทางปลอมของตุรกีแล้ว
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ซึ่งได้มีการประกาศออกไปว่าผู้ต้องสงสัยเป็นชาวตุรกี โดยที่ยังไม่มีหลักฐานนั้น สำนักข่าวเดียวกันข้างต้นได้รายงานว่าจากแหล่งข่าวทางการทูตตุรกีได้ระบุว่า ภายหลังจากความพยายามในการใช้ช่องทางทางการทูตเพื่อตรวจสอบเรื่องดังกล่าวก็ไม่ได้รับการตอบรับใดๆ ซึ่งก็ได้พยายามในการเรียกร้องความช่วยเหลือจากตำรวจสากลในการเข้าถึงการตรวจสอบครั้งนี้
ในวันที่ 30 สิงหาคม 58 ก็ปรากฏข่าวจากทางตำรวจไทยว่า น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับลักลอบเข้าประเทศ ที่ทำกันเป็นเครือข่าย มากกว่าการก่อการร้ายสากล และการวิพากษ์อีกหลายฝ่ายก็เห็นว่าอาจเป็นประเด็นการเมืองภายในเองก็อาจเป็นไปได้
สิ่งที่ไทยกำลังถูกตั้งคำถามคือการปล่อยภาพที่เป็นภาพผู้ต้องสงสัย ซึ่งโดยหลักการแล้วจะต้องเป็นที่ปกปิด ตลอดจนการเปิดเผยหนังสือเดินทางนั้นก็มีการอ้างว่าเป็นภาพที่มาจากโพสหนึ่งในบล็อคที่สหรัฐฯ เมื่อเดือนมีนาคม 2013
สิ่งที่น่าสนใจจากกรณีนี้ คือ
1. ในเบื้องต้น ตามหลักการระหว่างประเทศโดยทั่วไปแล้วจำเป็นต้องอยู่บนสมมติฐานที่มีความบริสุทธิ์ก่อน มากกว่าจะตัดสินตั้งแต่ต้นโดยที่ยังไม่มีหลักฐานใดๆ มายืนยันประกอบ ซึ่งหากมีการตัดสินโดยปราศจากหลักฐานและปรากฏว่าผลที่ออกมาไม่ใช่แล้ว ก็อาจส่งผลต่อความขัดแย้งระหว่างประเทศได้
2. การรายงานข่าวที่ไม่ระมัดระวัง อาจส่งผลให้เกิดปัญหาต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ไม่น้อย จะเห็นได้จากข่าวของสำนักข่าวตุรกี ที่สะท้อนให้เห็นว่า มีความไม่พอใจต่อสำนักข่าวบางสำนักที่มีการตัดสินก่อนแล้ว และไม่ระมัดระวัง ในขณะที่ข่าวของสำนักข่าวตุรกีเองนั้น จะเห็นได้ว่ามีการแก้ไขเนื้อหาของข่าวเมื่อได้รับผลจากสำนักงานตำรวจไทย และมีความระมัดระวังในการนำเสนอข่าวมากขึ้น ขณะเดียวกัน การเผยแพร่ภาพของผู้ต้องสงสัยก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรทำตามหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเช่นกัน จึงเกิดเป็นข้อวิพากษ์ในวงกว้างต่อประเด็นนี้
3. สังคมไทยยังเข้าใจตุรกีอยู่น้อย และอาจถึงขั้นมีภาพลักษณ์ในแง่ลบต่อประเทศนี้ จึงทำให้เชื่อในข่าวได้อย่างง่าย และยังตั้งคำถามน้อย ในขณะเดียวกันสังคมตุรกีก็ยังเข้าใจไทยน้อย และไทยเองก็อาจมีภาพลักษณ์ที่ไม่ดีนักต่อตุรกีในช่วงหลังนี้ จึงทำให้การทำความเข้าใจร่วมกันในประเด็น เช่น ปัญหาของชาวอุยกูร ที่จะนำไปสู่ความร่วมมือต่อกัน ยังต้องทำความเข้าใจต่อกันอีกค่อนข้างมาก
อย่างไรก็ดี เหตุการณ์นี้แม้จะทำให้เกิดความหมองใจอยู่บ้าง แต่ก็อาจมองว่ายังไม่ได้กระทบความสัมพันธ์ระหว่างไทยและตุรกีมากนัก อาจด้วยกับตุรกีเองก็ยังคงเน้นไปที่การจัดการปัญหาการเมืองภายในและประเทศเพื่อนบ้านอยู่ หรือไทยเองก็ปรับตัวต่อเหตุการณ์ค่อนข้างเร็ว จากการที่หลายช่องทางหันมาใช้คำว่า ต่างชาติที่ไม่ระบุสัญชาติแทน แต่ก็ยังจำเป็นที่จะต้องติดตามต่อไปว่า จากผู้ต้องสงสัยนี้จะกลายเป็นผู้ต้องหาหรือไม่? และจะเป็นผู้ต้องหา “จริง” หรือเป็นเพียงแค่การจัดฉากขึ้นมา ก็ต้องอาศัยข้อมูลอีกหลายอย่างประกอบต่อไป
ขอบคุณสำหรับข้อมูลครับ
ตอบลบ