นโยบายต่างประเทศของตุรกีในยุครัฐบาลยุติธรรมและการพัฒนา
หรือ พรรคอัค ปัจจุบันนี้ สิ่งที่เห็นเด่นชัดประการหนึ่งคือการเน้นในการให้ความช่วยเหลือในด้านสิทธิมนุษยชน
และเน้นบทบาทการเข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะคนกลาง หรือ แสดงบทบาทของฝ่ายที่สาม (Third
Party) ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับหลายพื้นที่ขัดแย้ง
ประกอบกับแนวคิดของพรรคที่เน้นหนักในการขยายอิทธิพลพร้อมกับความรู้สึกของการเป็นประเทศผู้ปกครองของมุสลิมนับตั้งแต่ออตโตมานในอดีตยังคงหลงเหลืออยู่ในเหล่าผู้นำมุสลิมในประเทศ
ฉะนั้นไม่แปลกที่จะเห็นว่าพื้นที่การให้ความช่วยเหลือของตุรกีนั้นจะเน้นในพื้นที่ขัดแย้งที่มีชาวมุสลิมอยู่และหลายครั้งก็อิทธิพลของความเป็นเติร์กก็ยังคงเห็นได้เด่นชัดในการเข้าไปมีส่วนร่วมในกรณีความขัดแย้งในพื้นที่ที่มีชาวเติร์กอาศัยอยู่
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตะวันออกกลาง เอเชียกลางและแถบประเทศบอลข่าน
นายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ
ดาวุดโอวฺลู (Davutoğlu)
ได้แสดงความเห็นว่า เขตแดนและการแบ่งแยกทางการเมืองนั้นเป็นเพียงสิ่งไม่จริงที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง
ฉะนั้นแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้จะสามารถจัดการได้เมื่อมองในองค์รวมทุกระดับของปัญหาพร้อมกับการยอมรับในการร่วมมือต่อการสร้างสันติภาพจากตัวแสดงท้องถิ่นรากหญ้าเท่านั้น[1]
จากแนวคิดลักษณะนี้ ตุรกีได้แสดงบทบาทในหลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นบทบาทการเป็นคนกลาง (Mediator)
และ ผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) ทั้งในแง่ของการเจรจาของคู่ขัดแย้งหลักในหลายๆ
กรณี เช่น ในกรณีของฟิลิปปินส์
ที่ตุรกีเองก็มีส่วนร่วมในการเป็นหนึ่งในคนกลางครั้งนี้ เป็นต้น และการเปิดโอกาสให้เป็นพื้นที่หลักของพูดคุยหารือแนวทางการช่วยเหลือประเทศต่างๆ
เช่น ในกรณีของการเป็นพื้นที่กลางที่นักกิจกรรมทั่วโลกที่ต้องการช่วยเหลือซีเรีย
หรือ ปาเลสไตน์ ในการมารวมตัว เป็นต้น
รวมถึงความพยายามในการให้ความช่วยเหลือทางด้านสิทธิมนุษยชนและการสร้างพื้นฐานที่สำคัญของสังคมที่จะช่วยหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ
ซึ่งบทบาทที่กล่าวมาแล้วนั้น เป็นบทบาทที่มีทั้งในลักษณะของการให้ความช่วยเหลือผ่านรัฐบาลตุรกีโดยตรงและผ่าน
INGOs และ NGOs หลักในประเทศ
บทบาทเหล่านี้ตุรกีได้แสดงอย่างค่อนข้างเด่นชัด กระทั่งอาจมองได้ว่าเป็นอีกหนึ่งแนวทางของการกระจายอำนาจและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ
หากมองตามที่
Nye ได้นำเสนอความคิดแล้วก็อาจกล่าวได้ว่าการแสดงบทบาทในการช่วยเหลือเพื่อสร้างสันติภาพในพื้นที่ขัดแย้งเหล่านี้เป็นการใช้อำนาจอ่อน
(Soft Power) ของตุรกีเอง[2]
แน่นอนว่าการใช้อำนาจลักษณะนี้ไม่ได้ส่งผลต่อผลประโยชน์ของประเทศโดยตรง
หากแต่จะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและเป็นการให้ความช่วยเหลือที่จะเอื้อต่อผลประโยชน์ของประเทศโดยอ้อมจากผลที่ตามมา
เช่น หากมีภาพลักษณ์ที่ดี หรือ หากในประเทศนั้นๆ สามารถคลี่คลายปัญหาความไม่สงบได้แล้ว
ก็จะมีทัศนคติในเชิงบวก และอาจส่งผลต่อความร่วมมือในด้านอื่นๆ ต่อไปได้ เป็นต้น
ในบริบทของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้/
ปาตานี เอง ตุรกีก็ได้เข้าไปมีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือ แม้ว่าจะยังคงมีอยู่ในระดับที่ไม่มากนักและยังไม่เป็นทางการหากเปรียบเทียบกับอีกหลายพื้นที่
แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการช่วยเหลือจากต่างประเทศที่มีข้อเด่นในการที่เห็นเป็นรูปร่างชัดเจนและเข้าถึงประชาชนรากหญ้าได้ค่อนข้างมาก
การให้ความช่วยเหลือของตุรกีต่อสามจังหวัดชายแดนภาคใต้/
ปาตานี โดยหลักแล้วจะดำเนินผ่านองค์กรพัฒนาเอกชนของประเทศตุรกี ที่เห็นเด่นชัดที่สุด
คือ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชน เสรีภาพและการช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม หรือ อีฮาฮา
(İnsan Hak ve Hürriyetleri ve İnsani Yardım Vakfı –
İHH)
ซึ่งเป็นองค์กรที่เน้นให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติและขาดแคลนต่างๆ
ทั่วโลก ผ่านงบประมาณที่มาจากการบริจาคโดยตรง
ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในองค์กรที่มีการทำงานอย่างเห็นชัดและมีประสิทธิผล
การทำงานของอีฮาฮาต่อพื้นที่นั้นโดยหลักแล้วจะร่วมมือกับองค์กรเอกชนในพื้นที่ที่ทางองค์กรได้คัดเลือกและเล็งเห็นว่าสามารถทำงานได้เห็นผลเมื่อได้รับการช่วยเหลือไปแล้วและเป็นองค์กรที่สามารถเข้าถึงประชาชนรากหญ้าได้
อีฮาฮาได้เน้นให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ในสามเรื่องหลัก[3] คือ
1. ด้านการศึกษา ซึ่งได้สนับสนุนในการสร้างโรงเรียน 1 แห่ง ในพื้นที่อ.ยะหริ่ง หรือ โรงเรียนบูรณาการศึกษาวิทยา
โดยที่การสนับสนุนในครั้งนี้เป็นการช่วยเหลือที่ให้ทางโรงเรียนมีการดูแลบริหารการเรียนการศึกษา
โดยคนในพื้นที่เอง ในบริเวณโรงเรียนยังมีพื้นที่สำหรับหอพัก
และส่วนที่กำลังพัฒนาพื้นที่ต่อไปเรื่อยๆ
2. ด้านการช่วยเหลือเด็กกำพร้า
ซึ่งได้สนับสนุนการสร้างศูนย์เด็กกำพร้าร่วมกับมูลนิธิพัฒนาชุมชนเป็นสุข จำนวน 2 แห่ง คือสถาบันศึกษานูรุลญีนานเพื่อเด็กกำพร้าและเยาวชนทั่วไป (Miyasetenis Yetimhanesi) ใน อ.สายบุรี จ.
ปัตตานี และ สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าอัสสาอาดะห์ (Furkan Emre Kesik Yetimhanesi) ใน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส
และมีโครงการที่จะพัฒนาและเพิ่มจำนวนในพื้นที่อื่นๆ อีกต่อไป ขณะเดียวกันก็มีโครงการในการทำโปสการ์ด[4]เพื่อให้ผลทางจิตใจแก่เด็กกำพร้าเหล่านั้น
3. ด้านอื่นๆ เช่น การเลี้ยงละศีลอด
การมอบเนื้อวัวเพื่อการทำกุรบ่านแจกแก่ชาวบ้านทั่วไป หรือ
การให้ความช่วยเหลือในด้านยามประสบภัยพิบัติ เช่น
การให้ความช่วยเหลือด้านของใช้ที่จำเป็นพร้อมทั้งข้าวสารอาหารแห้งเมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา
นอกจากอีฮาฮาแล้ว
ยังมีอีกหลายองค์กรที่ได้เริ่มเข้าสู่พื้นที่เพื่อให้การช่วยเหลือ เป็นรายกรณี
โดยเฉพาะการบริจาควัวเพื่อการทำกุรบ่าน หรือ
การบริจาคเพื่อเล้ยงละศีลอดในเดือนรอมฎอน องค์กรเหล่านี้ อาทิ เช่น Turkiye Diyanet Vakfı, Cansuyu Yardımlaşma ve Dayanışma
Derneği, Deniz Feneri, Kızılay, Kimse Yok mu Derneği เป็นต้น[5]
ในที่นี่แทบจะเรียกได้ว่าเกือบจะทุกองค์กรเอกชนหลักๆ
ของตุรกีได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนในพื้นที่
ในส่วนของภาครัฐเองนั้นยังไม่มีแนวทางการให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นทางการ
นอกเสียจากผ่านการให้ความช่วยเหลือในด้านการให้ทุนการศึกษามาศึกษาต่อยังประเทศตุรกีที่มีการคัดเลือกตัวแทนนักเรียนนักศึกษาจากในพื้นที่มาศึกษาต่อยังประเทศตุรกี
เหล่านี้ล้วนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่เห็นได้ชัด
ที่จะเห็นได้ว่าเน้นการพัฒนาและช่วยเหลืออย่างค่อนข้างเป็นรูปธรรม แน่นอนว่าการดำเนินกิจกรรมในลักษณะนี้ส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่ดีและทัศนคติแง่บวกของผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือจากประเทศตุรกี
แต่อย่างไรก็ดีในส่วนของตุรกีเองนั้นยังมีความเข้าใจต่อปัญหาในพื้นที่ได้อย่างไม่ชัดเจน
หลายครั้งที่การนำเสนอข่าวเกี่ยวกับเรื่องราวในพื้นที่ปาตานีนั้นเป็นไปด้วยความไม่ชัดเจนและมีแนวโน้มในการเน้นนำเสนอแต่บางส่วนที่เน้นความรุนแรงของปัญหาในแง่เดียว
อุปสรรคที่ชัดเจนอาจด้วยการสื่อสารที่ไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่เมื่อลงไปยังพื้นที่ในหลายครั้ง
แนวโน้มของความคาดหวังในหลายภาคส่วนต่อบทบาทของตุรกีในพื้นที่
รวมทั้งความคาดหวังของตุรกีเอง
ก็อาจจะเป็นการให้ความช่วยเหลือในลักษณะเดียวกับที่ได้ช่วยแก่กรณีกระบวนการสันติภาพบังซาโมโรในฟิลิปปินส์
นั่นคือ การเป็นฝ่ายที่สามที่เข้าไปช่วยเหลือในกระบวนการพูดคุยและเจรจา เนื่องด้วยการที่เป็นหนึ่งในประเทศมุสลิมที่สำคัญในการเมืองโลกปัจจุบัน
และเป็นประเทศที่มีผลงานประจักษ์ในการทำงานในพื้นที่ขัดแย้งอื่นๆ
รวมถึงการมีกิจกรรมที่ปรากฏให้เห็นในพื้นที่ แต่อย่างไรก็ดี
ข้อจำกัดที่แตกต่างของบริบทความขัดแย้ง รวมถึงความเข้าใจต่อปัญหา ก็ยังคงเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถมองข้ามได้
หากแต่ตุรกีเองเริ่มมีความพยายามในการสร้างความเข้าใจต่อพื้นที่มากขึ้นเช่นกัน
(ผู้เขียนเริ่มเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในการนำเสนอข่าวที่มีความเข้าใจต่อบริบทพื้นที่มากขึ้น)
อย่างไรก็ดี ณ เวลานี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า
กระแสของการเติบโตในการสร้างภาพลักษณ์ที่น่าชื่นชมของตุรกีต่อมุสลิมบางส่วนทั่วโลกก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้การยอมรับการช่วยเหลือของตุรกีต่อพื้นที่เป็นไปในเชิงบวก
แม้ว่าในปัจจุบันการให้ความช่วยเหลือของตุรกีต่อพื้นที่ปาตานีมีข้อเด่นที่เน้นให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนรากหญ้าอย่างแท้จริง
แต่ก็ยังคงมีข้อจำกัดที่เน้นการทำงานเฉพาะกลุ่มและไม่กระจายสู่ระดับบนมากนัก
ซึ่งในส่วนนี้อาจจะมีแนวโน้มที่จะเห็นการพัฒนาความช่วยเหลือต่อกระบวนการสันติภาพที่กระจายมากขึ้นต่อไป
[1]
Ahmet Davutoğlu, Stratejik Derinlik: Türkiye’nin Uluslararası Konumu, İstanbul,
Küre Yayınları, 2001.
[2]
Nye, Joseph S. Jr. 2004. Soft Power: the Means to Success in World Politics.
New York: Public Affairs.
[3]
ประมวลจากการพูดคุยกับตัวแทนจากอีฮาฮาที่รับผิดชอบในพื้นที่ปาตานีโดยตรง
และองค์กรต่างๆที่ได้รับความช่วยเหลือ
[4]
เป็นโครงการของกลุ่ม
BirŞeyYap ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของเยาวชนรุ่นใหม่ที่เป็นอาสาสมัครภายใต้การทำงานขององค์กรสิทธิมนุษยชนใหญ่องค์กรหนึ่งของตุรกี
ซึ่งก็คือ IHH Humanitarian Relief Foundation เยาวชนเหล่านี้ก็เป็นเยาวชนที่มาจากหลากหลายแห่ง
ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาหรือนักธุรกิจรุ่นใหม่ ที่ได้ใช้เวลาว่างจากหน้าที่หลักมาเรียนรู้งานจากองค์กรหลัก
และคิดโครงการกันขึ้นมาเอง
โครงการเล็กๆที่เริ่มกันของกลุ่มนี้คือ การทำโปสการ์ด
เพื่อที่จะให้แก่เด็กกำพร้าที่อยู่ภายใต้องค์กรแม่ที่พวกเขาทำงานให้
เนื่องจากพวกเขาเล็งเห็นว่าหลายครั้งการช่วยเหลือไม่ใช่แค่การให้เงิน
หากแต่เป็นการช่วยเหลือทางด้านจิตใจด้วยเช่นกัน จากความตั้งใจเล็กๆ นี้ เริ่มค่อยๆ
ขยายเป็นรูปเป็นร่างขึ้น
จากเพียงแค่โปสการ์ดเริ่มพัฒนาเป็นโปสการ์ดที่ติดมาด้วยปฏิทิน
ที่มีรูปภาพที่อาสาสมัครเหล่านั้นได้ถ่ายขึ้นมาเองในขณะไปช่วยงานในพื้นที่ต่างๆ และเริ่มขยายด้วยการมีรายละเอียดเล็กๆที่แทรกภายในขึ้นมา
ว่าโปสการ์ดเหล่านั้นที่ส่งไปให้กับเด็กกำพร้าคนไหน
สามารถส่งกลับเพื่อมีการติดต่อกับเด็กคนนั้นอย่างต่อเนื่องได้
ทางกลุ่มเริ่มขยายการทำงานด้วยการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กรตุรกีที่มีเด็กนักศึกษาต่างชาติรวมตัวกัน
เพื่อที่จะหาอาสาสมัครสำหรับการแปลโปสการ์ดเหล่านั้นให้เป็นภาษาที่เด็กกำพร้าในแต่ละพื้นที่สามารถเข้าใจได้
ขณะเดียวกัน
โครงการนี้ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์มากขึ้น การทำโปสการ์ดเล็กๆ
นี้จึงได้พัฒนากลายเป็นโครงการที่เมื่อคนที่ได้รับโปสการ์ดแล้วในขณะที่ส่งกลับ
ก็สามารถบริจาคและเงินบริจาคเหล่านี้ทั้งหมดจะนำไปสมทบทุนให้แก่โครงการการสร้างโรงเรียนเด็กกำพร้าในพื้นที่ปัตตานี
[5]
ตามข้อมูลจากเพจเฟสบุคหลักของทุกองค์กรและจาก
http://www.aksiyon.com.tr/dosyalar/turkiye-dunyayi-kurban-la-sevindirdi_536849
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น