วันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ตุรกีหลังเลือกตั้งกับฉากใหม่ของสงครามเศรษฐกิจ


ยาสมิน ซัตตาร์


นับตั้งแต่ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของประเทศตุรกีล่าสุดในวันที่ 24 มิถุนายน ที่ส่งผลให้แอรโดก์อานสามารถคว้าชัยชนะได้อีกครั้งและเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศสู่ระบอบประธานาธิบดี มาซึ่งคำวิพากษ์วิจารณ์จากโลกตะวันตกเป็นจำนวนมากในประเด็นความเป็นเผด็จการที่จะมีมากขึ้นของแอรฺโดก์อาน แต่ขณะเดียวกันก็นำมาซึ่งความยินดีของโลกมุสลิมหลายๆประเทศต่อชัยชนะในครั้งนี้ การปะทะกันระหว่างการสร้างภาพลักษณ์สองแบบของแอรฺโดก์อานกลายเป็นเรื่องราวที่เห็นได้ชัดผ่านสื่อต่างๆ ระหว่างสื่อตะวันตกและสื่อโลกมุสลิม ขณะเดียวกันเรื่องราวของแอรฺโดก์อานยังถูกถกเถียงผ่านโซเชี่ยลมีเดียอย่างกว้างขวาง ประเด็นต่างๆ ที่รัฐบาลพรรคยุติธรรมและการพัฒนาหรือพรรคอัค ได้ดำเนินการมา ถูกหยิบยกมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่เป็นปัจจัยสนับสนุน หรือเรื่องการจับกุมนักข่าวและนักวิชาการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มกุลเลนซึ่งเป็นปัจจัยค้าน แม้กระทั่งหลังเกิดเหตุการณ์ซึ่งนักเตะเชื้อสายตุรกีชาวเยอรมัน ต้องลาออกจากทีมเพราะถูกเหยียดเชื้อชาติภายหลังจากทีมเยอรมันพ่ายแพ้ในบอลโลก และก่อนหน้านั้นมีรูปที่นักบอลคนนี้ถ่ายคู่กับแอรฺโดก์อาน ประเด็นนี้ก็กลายเป็นเรื่องถกเถียงไปพร้อมๆ กับภาพลักษณ์แอรฺโดก์อาน แม้กระทั่งในประเทศไทยเอง แม้ว่าแอรฺโดก์อานจะเผชิญกับแรงเสียดทานและชุดวาทกรรมที่ผลิตสร้างเพื่ออธิบายความเป็นแอรฺโดก์อานมากสักเท่าไหร่แต่แอรฺโดก์อานก็ยังคงชนะการเลือกตั้งและอยู่ในตำแหน่งต่อไป ท่ามกลางข้อถกเถียงที่ยังคงมีต่อ โดยเฉพาะการเลือกให้ลูกเขยมาเป็นรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ
บททดสอบสำคัญอีกครั้งของแอรฺโดก์อานเริ่มขึ้นเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อตุรกีอย่างเห็นได้ชัด เมื่อสหรัฐฯ ประกาศให้ตุรกีปล่อยตัวแอนดริว บรันซัน นักบวชคริสเตียนชาวสหรัฐฯ ซึ่งถูกจับในข้อหาการให้การสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ดและกลุ่มเฟโต้ของกุลเลน ที่นับได้ว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายสำหรับตุรกี แต่ตุรกีปฏิเสธที่จะปล่อยตัว ทำให้สหรัฐฯใช้เป็นข้ออ้างในการประกาศขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมกับตุรกีเป็น 50% และ 20% โดยส่งผลให้ค่าเงินลีร่าอ่อนตัวหนักที่สุดในรอบปีนับตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม กระทั่งวันที่ 13 สิงหาคม ไปแตะที่ต่ำที่สุดที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 6.95 ลีร่า แต่หลังจากนั้นกระทั่งวันที่ 17 สิงหาคม ค่าเงินก็เริ่มกระเตื้องขึ้นอีกครั้ง แต่ก็ค่อยๆ ขึ้นทีละนิดไปแต่ที่ 6.04 ลีร่า ในวันที่ 20 สิงหาคม อีกครั้ง





กราฟ 1 อัตราแลกเปลี่ยนดอลล่าร์สหรัฐ/เตอร์กิชลีร่าในรอบสามเดือน

กราฟ 2 อัตราแลกเปลี่ยนดอลล่าร์สหรัฐ/เตอร์กิชลีร่าในรอบหนึ่งสัปดาห์
ที่มา https://markets.businessinsider.com/currencies/usd-try

แน่นอนว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ได้มีผลมาจากแค่เพียงเหตุการณ์เดียวที่ส่งผลทำให้เกิดความผันผวนทางการเงินหนักขนาดนี้ และคงไม่ใช้ปัจจัยเดียวที่ทำให้สหรัฐฯ หันมาใช้มาตรการทางเศรษฐกิจกับตุรกี สองปัจจัยหลักเนื่องจากความสัมพันธ์ที่ไม่สู้ดีหนักระหว่างตุรกีและสหรัฐฯในช่วงที่ผ่านมา และปัญหาเศรษฐกิจภายในตุรกีเองที่สะสมมาต่อเนื่องและยังไม่ได้รับการแก้ไข จึงทำให้ปัญหาลุกลามถึงขั้นวิกฤต ขณะเดียวกันผลของปัญหาในครั้งนี้ยังทำให้เกิดผลกระทบต่อตลาดการเงินในหลายประเทศ เช่น บางประเทศในยุโรป หรือ อินเดีย เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาครั้งนี้ก็ทำให้เห็นว่าตุรกียังคงมีความสำคัญกับหลายประเทศ จากความพยายามทางการทูตรวมถึงการเพิ่มความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับหลายประเทศ ในช่วงที่ต้องการเป็นอิสระจากสหรัฐฯมากขึ้น และเริ่มหันมาใช้นโยบาย Look East ซึ่งเพิ่มระดับความสัมพันธ์กับรัสเซียและจีน นโยบายแบบนี้จึงทำให้ตุรกีได้มิตรที่พร้อมช่วยในสถานการณ์เช่นนี้ไม่น้อย จึงนับได้ว่าปรากฏการณ์นี้เป็นอีกกรณีศึกษาที่น่าสนใจ สำหรับการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุคปัจจุบัน ที่กระบวนการกดดันทางเศรษฐกิจอาจส่งผลกระทบได้ในระดับหนึ่งแต่อาจไม่เฉียบคมเท่าอดีตก็เป็นได้

ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-ตุรกี: ไม่ใช้มิตรแท้ หรือศัตรูถาวร
          นับตั้งแต่อดีตหลังจากประกาศเป็นสาธารณรัฐตุรกี ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและตุรกีนับได้ว่ามีความใกล้ชิดกันมา ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และช่วงสงครามเย็น ตุรกีเป็นประเทศที่ประกาศตนเป็นพันธมิตรที่ชัดเจนต่อสหรัฐฯ ขณะเดียวกันสหรัฐฯก็ให้ความช่วยเหลือกับตุรกีทั้งด้านเศรษฐกิจและการทหาร ในแง่หนึ่งการเป็นพันธมิตรต่อสหรัฐฯ ในเวลานั้นก็เพื่อป้องกันภัยคุกคามจากสหภาพโซเวียต เพื่อสนับสนุนสหรัฐฯในช่วงสงครามเย็น ตุรกีได้ร่วมรบในสงครามเกาหลี กระทั่งในปี 1952 ตุรกีก็ได้เข้าเป็นสมาชิกนาโต้ หลังจากนั้น 2 ปี สหรัฐฯยังสร้างฐานทัพอินจิรฺลิคขึ้นในตุรกี โดยที่ฐานทัพนี้นับได้ว่าเป็นฐานทัพหลักที่สหรัฐฯใช้ทำสงครามกับประเทศตะวันออกกลางในเวลาต่อมา แต่เริ่มมีปัญหาให้เห็นบ้างกรณีไซปรัสซึ่งตุรกีเห็นต่างจากสหรัฐฯ กระทั่งเกิดการระงับการซื้อขายอาวุธให้ตุรกี อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯก็กลับมามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับตุรกีอีกครั้งเมื่อเกิดการปฏิวัติในอิหร่าน ซึ่งสหรัฐฯ ต้องการพันธมิตรเพื่อรับมือกับสถานการณ์ทางการเมืองที่เริ่มเปลี่ยนไปในภูมิภาคตะวันออกกลาง และเมื่อโอซาลขึ้นปกครอง ทิศทางของรัฐบาลในเวลานั้นจะเน้นเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหลักและมีการซื้อขายอาวุธระหว่างสองประเทศชัดเจนขึ้น ในช่วงนี้สหรัฐฯยังช่วยสนับสนุนให้ IMF ยอมให้ตุรกีกู้ ขณะเดียวกันยังเลือกที่จะเพิกเฉยไม่วิพากษ์วิจารณ์เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นที่เคยทำ และยังไม่กดดันตุรกีในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งกับชาวเคิร์ด ต่อมาภายหลังจากสงครามเย็น แม้ว่าจะไม่มีแรงกดดันจากโซเวียตและเริ่มเห็นชัดว่าไม่สามารถเข้าร่วมในสหภาพยุโรปได้ ตุรกีจึงจำเป็นต้องสนับสนุนสหรัฐฯ เช่น การเข้าร่วมในสงครามอ่าว แต่อย่างไรก็ตามในเวลานั้น ตุรกีเริ่มเปิดตัวเอง และสร้างความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ มากขึ้น โดยเฉพาะประเทศในแถบบอลข่านและเอเชียกลาง ซึ่งมีอัตลักษณ์และฐานภาษาที่คล้ายคลึงกับหลายประเทศ ขณะเดียวกันก็เริ่มเปิดเข้าสู่ประเทศแถบแอฟริกา โดยในช่วงเวลานี้กลุ่มนักเคลื่อนไหวมุสลิมซึ่งทำงานด้านการให้ความช่วยเหลือเชิงมนุษยธรรมได้เริ่มทำงานในเขตพื้นที่ขัดแย้งหลายๆที่  ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและตุรกียังคงเป็นไปในเชิงบวก กระทั่งเกิดสงครามอิรัก ที่นำมาซึ่งข้อถกเถียงในสังคมตุรกีเป็นจำนวนมาก ว่าตุรกีควรมีส่วนร่วมในสงครามครั้งนั้นหรือไม่ เนื่องจากสงครามในครั้งนั้นสหรัฐฯได้ฝึกฝนอาวุธในชาวเคิร์ดในอิรัก ซึ่งตุรกีกังวลว่าจะส่งผลต่อความมั่นคงภายในที่มีกลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ดอยู่เช่นกัน ขณะที่สังคมตุรกีได้ถกเถียงถึงความชอบธรรมของสงครามในครั้งนั้น ความไม่ชัดเจนในการสนับสนุนของตุรกีครั้งนี้เริ่มส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ และเริ่มเห็นถึงความไม่ลงรอยอีกครั้งในปี 2007 ในกรณีที่สหรัฐฯมีการพูดถึงสงครามระหว่างอาร์มาเนียและออตโตมานว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่ประเด็นนี้ถูกแก้ไขเมื่อประธานาธิบดีโอบามาเข้าสู่ตำแหน่ง
ความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีและสหรัฐภายใต้รัฐบาลพรรคอัค มีความอิหลักอิเหลื่อมาตลอด ในแง่หนึ่งแล้ว ความร่วมมือในหลายๆ มิติทั้งการค้าและการทหารยังคงดำเนินไป ขณะเดียวกันก็มีเหตุการณ์ที่กระทบกระทั่งกันบ่อยครั้ง โดยเฉพาะเรื่องการสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ดของสหรัฐฯ ในสงครามซีเรีย ที่แน่นอนว่าเป็นสิ่งที่ตุรกีไม่พอใจ เพราะสำหรับตุรกีแล้วกลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ดนับได้ว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง ขณะเดียวกัน ท่าทีของแอรฺโดก์อานก็เริ่มถูกวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นไปพร้อมๆ กับความนิยมที่มากขึ้นไปด้วย ขณะเดียวกันในช่วงที่ผ่านมาก็จะเห็นถึงประเด็นขัดแย้งที่รุนแรง ไม่ว่าจะเป็นจุดยืนที่ต่างต่อเรื่องซีเรีย ประเด็นการจับกุมนักการธนาคารในสหรัฐฯ ข้อตกลงเรื่องระบบมิซไซล์ S-400 การส่งเครื่องบินเจ็ททหาร F-35 ไปยังตุรกีอย่างล่าช้า และประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ เรื่องที่สหรัฐฯ ไม่ส่งตัวกุลเลน ซึ่งรัฐบาลตุรกีอ้างว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความพยายามก่อรัฐประหารในปี 2016[1] จึงเห็นได้ว่าในช่วงปีที่ผ่านมาความสันพันธ์ระหว่างสองประเทศเริ่มเกิดความไม่ไว้วางใจและความขัดแย้งระหว่างกัน ในแง่หนึ่งแล้ว การที่ตุรกีแสดงจุดยืนที่ชัดเจนในการหันไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดขึ้นกับจีนและรัสเซีย รวมถึงกลุ่มประเทศใน BRICS นับได้ว่าเป็นอีกจุดที่ทำให้สหรัฐฯยิ่งไม่พอใจ 
กระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2018 กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้แบนรัฐมนตรีตุรกี 2 คน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจับกุมนักบวชคริสเตียนชาวสหรัฐฯ ซึ่งถูกจับในข้อหาให้การสนับสนุนการก่อการร้าย ทั้งกลุ่มพีเคเค (กลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ด) และกลุ่มเฟโต้ (กลุ่มเครือข่ายของเฟตุลลอฮ์ กุลเลน) ต่อมาในวันที่ 10 สิงหาคม สหรัฐฯ เริ่มเพิ่มภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมจากตุรกี และเรียกร้องให้ตุรกีปล่อยตัวนักโทษชาวสหรัฐฯ และบอกว่านักบวชชาวคริสเตียนที่ถูกจับนั้นบริสุทธิ์ ตุรกีจึงมีการตอบโต้และกล่าวว่าพฤติกรรมของสหรัฐฯ นั้นเป็นตัวบังคับให้ตุรกีต้องหาพันธมิตรใหม่ แต่แน่นอนว่าผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้ไม่เพียงแต่เพราะท่าทีของสหรัฐฯที่ประกาศฝ่ายเดียวในสิ่งที่ขัดต่อมารยาทและกฎของข้อตกลงการค้าโลก แต่ยังมีปัจจัยประกอบที่ทำให้เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นนั่นคือ ภาวะเศรษฐกิจที่สั่นคลอนภายในตุรกีเอง

เศรษฐกิจตุรกีในช่วงทศวรรษหลังกับผลกระทบของสงครามเศรษฐกิจต่อตุรกี
          เศรษฐกิจของตุรกีในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ภายใต้การบริหารของพรรคอัคนับได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ทำให้เศรษฐกิจตุรกีค่อยๆ ฟื้นฟูขึ้น จึงทำให้ตุรกีเองเริ่มดำเนินนโยบายอย่างเป็นอิสระมากขึ้น ก่อนหน้านี้ เศรษฐกิจตุรกียึดติดกับสหรัฐฯและยุโรปเพียงอย่างเดียว กระทั่งนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของโอซาลที่ทำให้ตุรกีหันมาพัฒนามิตินี้อย่างจริงจังและเริ่มเปิดตลาดที่หลากหลายขึ้น แม้ว่ายุโรปจะยังคงเป็นคู่ค้าหลักเสมอมา อย่างไรก็ตาม ในยุคนี้ตุรกีได้กู้เงินจาก IMF เพื่อสนับสนุนแผนพัฒนาเศรษฐกิจ เมื่อพรรคอัคเข้ามาบริหารเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนต้องการผู้มาช่วยพยุงเศรษฐกิจตุรกีในเวลานั้น จึงทำให้พรรคทางเลือกอย่างพรรคอัคมีโอกาสเข้ามา และปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ประชาชนยังคงเลือกพรรคอัคเข้ามาอีกหลายสมัยกระทั่งถึงปัจจุบัน ประเด็นที่แอรฺโดก์อานพยายามตอกย้ำให้เห็นถึงความสำเร็จของพรรคอัค นั่นก็คือ การชำระหนี้ IMF ได้ และความสามารถในการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนตัวเลข GDP ที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่อย่างไรก็ตามภายใต้การดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด ทำให้ตุรกีต้องเผชิญกับฐานทางเศรษฐกิจที่พร้อมได้รับการกระทบกระเทือน โดยเฉพาะปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ก่อตั้งสาธารณรัฐตุรกี แต่อัตราเงินเฟ้อเริ่มผ่อนคลายลงในช่วงพรรคอัคเข้ามาบริหารประเทศ อย่างไรก็ดี ปัญหาเงินเฟ้อก็ยังนับเป็นปัญหาสำคัญที่ตุรกีเผชิญเสมอมา หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้พรรคอัคไม่สามารถแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้ ก็เพราะการห้ามไม่ให้ธนาคารกลางเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลต่อคะแนนนิยมของพรรคอัคที่จะลดลง รวมไปถึงอาจเป็นเพราะความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับมิติศาสนา ที่มองว่าดอกเบี้ยจะไม่ส่งผลดีใดๆ

กราฟ 3 อัตราเงินเฟ้อของประเทศตุรกี

          หากมองในประเด็นค่าเงินลีร่า ก็จะเห็นว่าค่าเงินลีร่าก็เริ่มอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลล่าร์สหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ในแง่หนึ่งก็อาจมองได้ว่าเป็นผลจากเศรษฐกิจโดยภาพรวมของโลก ปัญหาการไหลออกของเงินดอลลาร์จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบาย แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นผลจากปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งหนี้ต่างประเทศ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด รวมถึงเงินเฟ้อ[2] และปัญหาความมั่นคงและการเมืองที่ตุรกีเผชิญมาตลอดทศวรรษที่ผ่านมา

กราฟ 4 อัตราแลกเปลี่ยนดอลล่าร์สหรัฐ/เตอร์กิชลีร่า
ที่มา https://markets.businessinsider.com/currencies/usd-try

นับตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 61 เมื่อเกิดปัญหาทางการเมืองกับสหรัฐฯ และสหรัฐฯประกาศขึ้นภาษี ส่งผลทำให้ผลกระทบต่อค่าเงินตุรกีเป็นไปอย่างชัดเจนนั้น ก็นับได้ว่าไม่ใช่เรื่องที่เป็นปัญหาใหม่สำหรับตุรกี หากแต่เป็นปัญหาที่คาดการณ์ได้ เพียงแต่การใช้เครื่องมือเพิ่มภาษีของสหรัฐฯ ครั้งนี้ทำให้ปัญหาเกิดผลกระทบที่ชัดขึ้น แน่นอนว่าปัญหาครั้งนี้ส่งผลต่อราคาสินค้าภายในประเทศบางรายการที่อาจสูงขึ้น ขณะเดียวกันก็ส่งผลต่อธุรกิจบางประเภทในประเทศ รวมถึงความเชื่อมั่นที่ลดลงของนักลงทุน ในขณะเดียวกันก็เกิดความกังวลของนักลงทุนโดยทั่วไปว่าจะส่งผลวิกฤตโดมิโนทางการเงินในเอเชียขึ้นอีกครั้ง  ซึ่งหลังจากเหตุการณ์ก็เห็นถึงผลกระทบต่ออินเดีย อาร์เจนติน่าและแอฟริกาใต้ แม้ว่าจะไม่ได้เห็นชัดมากนัก แต่หากปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไขก็อาจส่งผลให้เกิดวิกฤตได้ เนื่องจากตุรกีในฐานะที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ในการเชื่อมโยงทั้งยุโรปและเอเชีย ได้เริ่มขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับหลายประเทศ หากตุรกีล้มแล้ว แน่นอนว่าจะส่งผลต่อตลาดในอีกหลายประเทศก็เป็นได้

มาตรการตอบโต้และความช่วยเหลือ
          ท่าทีการรับมือของตุรกีต่อเหตุการณ์นี้เป็นอีกสิ่งที่น่าสนใจ เนื่องจากสะท้อนให้เห็นถึงการไม่ยอมลงให้สหรัฐฯ อย่างชัดเจน แน่นอนว่าท่าทีแบบนี้จะทำให้เกิดความไม่พอใจจากสหรัฐฯ แต่ตุรกียังเลือกที่จะทำ มาตรการตอบโต้ที่รัฐบาลใช้ในกรณีนี้ หากมองในสองแง่มุม ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง จะเห็นถึงความเชื่อมโยงกันอย่างมีนัยยะสำคัญ มาตรการทางเศรษฐกิจที่ใช้ไม่ว่าจะเป็นมาตรการของธนาคารกลางที่ออกมาช่วยธนาคารและสนับสนุนการลงทุน การให้ประชาชนหันมาถือเงินลีร่าแทนดอลล่าร์ การหาเงินสนับสนุนจากประเทศอื่นๆ เป็นต้น มาตรการทางเศรษฐกิจแบบนี้ แน่นอนว่า ในมุมมองนักเศรษฐศาสตร์จะมองว่าเป็นการแก้ไขปัญหาเพียงชั่วคราวเท่านั้น หากต้องการแก้ไขควรใช้มาตรการอื่นๆ เช่น การปรับอัตราดอกเบี้ยแทน เป็นต้น ขณะที่มาตรการตอบโต้ทางการเมืองดูจะเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดมากกว่า นับตั้งแต่การที่แอรฺโดก์อานประกาศว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ ถือเป็นสงครามเศรษฐกิจ ที่ประชาชนชาวตุรกีต้องร่วมมือกับรัฐบาลในการรับมือ และประกาศบอยคอตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของสหรัฐฯ และให้ประชาชนใช้สินค้าทางเลือกอื่นๆ  ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้เกิดการผลิตมากขึ้นในสิ่งที่ได้รับผลกระทบ ตลอดจนการเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ บางรายการ เช่น ยาสูบ แอลกอฮอล์ และรถยนต์ รวมถึงเครื่องสำอางและข้าว เป็นต้น นอกเหนือจากนั้นยังเน้นย้ำว่าจะไม่ส่งตัวนักโทษคืน เพราะสหรัฐฯเองก็เพิกเฉยกับการส่งตัวกุลเลนมาให้และยังสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ดในซีเรียและอิรัก ในเวลาเดียวกัน ยังมีการใช้เครื่องมือเชิงอำนาจอ่อนอื่นๆ จากตุรกีในการตอบโต้ ไม่ว่าจะเป็นการปราศรัยของแอรโดก์อานเองหรือรัฐมนตรีการคลังและรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ รวมไปถึงการแสดงสัญญะเช่น การปล่อยตัวประธานแอมเนสตี้ในตุรกีที่โดนจับข้อหาที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มกุลเลนเช่นกัน นักวิเคราะห์บางคนมองว่าการที่ตุรกีปล่อยตัวในเวลานี้เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่าหากตุรกีบริสุทธิ์หรือหากต้องการปล่อยตัว กระบวนการศาลก็เป็นเรื่องภายในของตุรกีโดยเฉพาะในมิติที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง หรือแม้แต่การเรียกประชุมประเทศที่เกี่ยวข้องเรื่องปัญหาซีเรียยกเว้นสหรัฐฯ เป็นต้น
          อีกหนึ่งการตอบโต้ที่สำคัญคือ การแสดงสัญญะของตุรกีว่า ตุรกีสามารถหาตลาดทางเลือกอื่นๆได้ ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย จีน ประเทศในกลุ่ม BRICS หรือแม้แต่ประเทศในตะวันออกกลางอย่างกาต้าร์เอง หลังจากการขึ้นภาษีจากสหรัฐฯ กาต้าร์ก็ประกาศให้เงินลงทุนในตุรกี 15 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ขณะที่รัสเซียประกาศลดข้อจำกัดด้านการขอวีซ่าเพื่อให้ชาวรัสเซียกลับมาท่องเที่ยวในตุรกีมากเช่นก่อนหน้าเกิดเหตุการณ์ยิงเครื่องบินรัสเซียตก หรือการประกาศประณามการกระทำของสหรัฐฯจากอิหร่าน และการประกาศสนับสนุนเศรษฐกิจของตุรกีของเยอรมันและธนาคารยุโรป เป็นต้น กลุ่มประเทศมุสลิมที่เคยได้รับการสนับสนุนและการช่วยเหลือจากตุรกีก็ไม่เห็นด้วยกับสหรัฐฯ และประกาศจุดยืนการถือเงินลีร่า เป็นต้น แม้ว่าการสนับสนุนบางอย่างอาจไม่ได้ส่งผลมากนักต่อการช่วยปรับค่าเงินตุรกีให้คงที่เวลานี้ แต่ก็เป็นสัญญะของท่าทีการช่วยเหลือในอนาคตหากเหตุการณ์บานปลายที่เห็นได้ค่อนข้างชัด

บทสรุป: แนวโน้มของตุรกีและความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ
หากดูข้อมูลตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา จะเห็นว่าหลายครั้งที่ความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีกับสหรัฐฯ อยู่ในภาวะที่กลืนไม่เข้า คายไม่ออก แต่ก็สามารถผ่านมาได้ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และตุรกีในฐานะสมาชิกนาโต้ เป็นสิ่งที่ยากที่จะกลายเป็นศัตรูถาวรต่อกัน อย่างที่ประโยคคลาสสิคในการเมืองระหว่างประเทศว่าไว้ว่า “ไม่มีมิตรแท้ และศัตรูถาวร” ความสัมพันธ์ของตุรกีกับเหล่าประเทศมหาอำนาจก็เป็นเช่นนั้น แม้ว่าตุรกีจะมีปัญหากับสหรัฐฯ ในหลายประเด็นก่อนหน้ารวมถึงประเด็นนี้ กับยุโรปในประเด็นผู้ลี้ภัยและปัญหาทางการเมืองหลายครั้ง กับรัสเซียในประเด็นยิงเครื่องบินตกถึงขั้นเคยลดความสัมพันธ์ทางการทูตและแบนสินค้าและการท่องเที่ยว หรือกับจีนในปัญหาเรื่องชาวอุยกูร์ซึ่งตุรกีสนับสนุน แต่ตุรกีก็มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ที่ไม่สามารถมองข้ามได้ ไม่ว่าจะเรื่องการแก้ไขปัญหาซีเรีย ผลประโยชน์เรื่องแก๊ซที่ผ่านตุรกีสู่บอลข่าน ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจบางประการ ปัญหาผู้ลี้ภัยที่ตุรกีรับไว้อยู่ รวมไปถึงการค้าและการลงทุนที่ตุรกีทำเพิ่มมากขึ้นกับหลายๆ ประเทศ เหล่านี้ทำให้การทำลายตุรกีจึงอาจไม่ใช้เป้าหมายสำหรับประเทศมหาอำนาจเหล่านี้ เพราะในแง่หนึ่งตุรกียังมีความสำคัญและผลประโยชน์ร่วมกันอย่างเห็นได้ชัด แต่แน่นอนว่าท่าทีของแอรฺโดก์อานเองก็ไม่ได้เป็นที่ชื่นชมในประเทศเหล่านี้ เมื่อมีโอกาสจึงจำเป็นต้องแสดงสัญญะบางประการเพื่อตักเตือน ถึงที่สุดความสัมพันธ์ของตุรกีกับสหรัฐฯเองก็คงไม่ต่างกันนักเมื่อมองภาพความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีกับรัสเซียในประเด็นขัดแย้งก่อนหน้านี้ แต่ความสัมพันธ์ในเวลานี้ก็เริ่มกลับมาดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามยังต้องรอดูต่อไปว่าสหรัฐฯจะปล่อยให้ปัญหานี้ยาวนานแค่ไหน นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าเป็นไปได้สูงที่สถานการณ์อาจดีขึ้นก่อนหรือหลังการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ หลายคนนมองว่า แค่เพียงประเด็นของแอนดริว แบรนซัน ซึ่งถูกจับตั้งแต่ปี 2016 ไม่น่าจะใช่เหตุผลที่แท้จริงสำหรับท่าทีของสหรัฐฯ หากแต่เป็นเครื่องมือหนึ่งที่สหรัฐฯสามารถใช้ได้ในเวลานี้ เพื่อเรียกร้องกระแสชาตินิยมในประเทศให้เกิดขึ้น โดยที่การวิเคราะห์ของนักวิชาการระหว่างประเทศหลายท่านมักมองว่า การแซงชั่นทางเศรษฐกิจ เป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ชัด เมื่อการทูตหรือการใช้โฆษณาชวนเชื่อ แม้แต่เครื่องมือของอำนาจอ่อนอื่นๆ รวมไปถึงการโจมตีโดยอ้อมไม่ประสบผลสำเร็จ ขณะเดียวกันในภาวะที่อำนาจแข็งผ่านการทหารไม่สามารถทำได้ง่ายนัก ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลเรื่องศักยภาพทางทหารของอีกฝ่าย หรือ การที่อีกฝ่ายไม่ได้เป็นรัฐที่ล้มเหลว (failed state)
เช่นเดียวกับที่แอรฺโดก์อานเองก็ใช้เหตุการณ์ครั้งนี้ในการปลุกกระแสชาตินิยมของชาวเติร์ก ที่มักจะสู้ไม่ถอย เช่นเดียวกับกรณีที่ประชาชนออกมาสู้ในการต่อต้านการปฏิวัติปี 2016 ในขณะเดียวกัน การมองว่าปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการคุกคามของต่างประเทศ ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่จะเป็นการผลักเหตุผลของปัญหาเศรษฐกิจในการตอบคำถามของประชาชนได้ในระดับหนึ่งก็เป็นได้ แต่อย่างไรก็ตามปฏิเสธไม่ได้ว่าผลที่เกิดขึ้นจะทำให้ชาวตุรกีไม่น้อยที่ได้รับผลกระทบและไม่พอใจ
สิ่งที่น่าสนใจในอนาคตจากกรณีนี้อาจไม่ใช่เพียงความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีและสหรัฐฯเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นคำถามต่อความเป็นพันธมิตรที่เห็นในเวลานี้ ถึงที่สุดแล้วจะเป็นพันธมิตรได้ถึงระดับไหนสำหรับประเทศมหาอำนาจในกลุ่ม BRICs หรือแม้แต่กับประเทศอื่นๆ ที่ตุรกีเคยให้ความช่วยเหลือมาก่อน เห็นชัดเจนว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุคปัจจุบันไม่สามารถตอบคำถามนี้อย่างชัดเจน หากแต่ตอบได้ว่าในแต่ละสถานการณ์คงขึ้นอยู่กับการได้รับหรือการเสียผลประโยชน์ก็อาจเป็นได้ ฉะนั้นแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีและประเทศทางเลือกอื่นๆ ที่เป็นพันธมิตรในครั้งนี้ก็ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าจะไม่เกิดความขัดแย้งกันในอนาคต
สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ หากมองข้ามปัญหาระหว่างตุรกีและสหรัฐฯแล้ว ปัญหาเศรษฐกิจที่เปราะบางภายในตุรกีเองเป็นข้อท้าทายที่สำคัญยิ่งกว่าสำหรับตุรกีภายใต้ระบอบประธานาธิบดี และภายใต้ประธานาธิบดีแอรฺโดก์อาน อย่างน้องก็อีกภายใน 5 ปีข้างหน้านี้ รัฐบาลคงไม่สามารถหาเหตุผลในการบอกประชาชนว่าประเทศอื่นเป็นต้นเหตุของปัญหาได้ทุกครั้ง แต่มาตรการแบบไหนที่ตุรกีจะใช้ หากไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยหรือกู้ยืม IMF นอกเหนือจากการได้รับเงินสนับสนุนการลงทุนจากประเทศพันธมิตรแล้ว มาตรการระยะยาวนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย ขณะเดียวกัน การรับมือกับข้อท้าทายที่ตุรกีอาจต้องรับมือหนักขึ้นในอนาคต หากยังคงมีการแสดงสัญญะของการต่อต้านที่เห็นชัด สำหรับตุรกียิ่งเป็นความหวังของโลกมุสลิมมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้ความท้าทายที่ตุรกีต้องเผชิญยิ่งหนักขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าในแง่หนึ่ง “คุณค่า” หรือ “กรอบคิดสากล” บางชุด ถูกวางไว้ในแบบตะวันตก ก็อาจส่งผลให้เกิดการผลัก “ความต่าง” หรือ “ความคิดที่ไม่เหมือน” ออกไป ในสถานการณ์เช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจมีคนไม่น้อยที่ทั้งเชียร์ และ ซ้ำเติมตุรกี ฉะนั้นแล้วการรับมือกับผลของนโยบายต่างประเทศที่แข็งกร้าวขึ้นภายใต้แอรฺโดก์อานก็เป็นอีกข้อท้าทายสำคัญสำหรับตุรกีเช่นกัน
แต่อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นเพื่อเป็นมาตรการตอบโต้ระหว่างกัน ก็อาจเป็นที่คาดเดายากว่าจะไปถึงจุดไหน ล่าสุดในวันที่ 20 สิงหาคม เกิดเหตุการณ์การยิงเข้าไปในสถานทูตสหรัฐฯในอังการ่า ซึ่งการตอบโต้ของสหรัฐฯ ครั้งนี้จะเป็นอย่างไรก็เป็นสิ่งที่น่าติดตามไม่น้อย แม้ว่าในวันก่อนหน้าก็ยังเห็นข่าวจากรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศที่ว่าจะเดินหน้าโรดแม๊พมันบิจญ์ในประเด็นเกี่ยวกับการลาดตระเวนร่วมกันกับสหรัฐฯในอิรักตอนเหนือ





[1] Erkin Sahinoz. How could Turkey overcome its currency woes?. Retrieved on 17 August 2018 from https://www.aljazeera.com/indepth/opinion/turkey-overcome-currency-woes-180814152206750.html
[2] อารยะ ปรีชาเมตตา. 2561.  วิกฤติค่าเงินของตุรกี: เมื่อการเมืองนำเศรษฐกิจ. เข้าถึงเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2561 จาก http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/645307 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น