หลายคนอาจสงสัยว่า
เหตุใดในช่วงเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ตุรกีเกิดเหตุการณ์ระเบิดฆ่าตัวตายบ่อยครั้ง
นับตั้งแต่เหตุการณ์ระเบิดในเมืองอังการ่าในเดือนตุลาคม ต่อมาก็บริเวณข้างๆ
สุลต่านอะห์เม็ตในเดือนมกราคม
ตามมาด้วยการระเบิดในเขตทหารที่อังการ่าในเดือนกุมภาพันธ์ และสองเหตุการณ์ล่าสุดในเดือนมีนาคม
ไม่ว่าจะเป็นระเบิดในเมืองอังการ่าและไม่ถึงหนึ่งอาทิตย์ถัดมาก็เป็นเหตุระเบิดในบริเวณทักซิม
เมืองอิสตันบูล เหตุการณ์ที่ผ่านมาล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดคำถามว่า
เกิดอะไรขึ้นกับตุรกีในวันนี้ ทำไมถึงมีเหตุการณ์เกิดขึ้นบ่อยครั้ง
ตุรกีกำลังเผชิญกับความไม่มั่นคงในรูปแบบใด แล้วตัวแสดงไหนบ้างที่เกี่ยวข้อง
หากสรุปในเบื้องต้น
เหตุการณ์เหล่านี้ ไม่ได้เป็นการกระทำจากกลุ่มเดียว แต่เกี่ยวข้องกับสองกลุ่มหลักคือ
กลุ่มดาอิช และ กลุ่ม PKK ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธของชาวเคิร์ด
อาจเรียกได้ว่าความรุนแรงระลอกใหม่นี้นับเป็นผลกระทบจากสงครามกลางเมืองที่ตุรกีได้รับอย่างแทบหลีกเลี่ยงได้ยาก
ฉะนั้นการทำความเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้
จึงจำเป็นที่จะต้องเห็นถึงที่มาที่ไปของความขัดแย้งของตุรกีกับทั้งสองส่วนก่อน
ตุรกีกับดาอิช:
ความขัดแย้งจากการเมืองที่ซับซ้อนในภูมิภาค
เนื่องด้วยการขยายอิทธิพลของดาอิช
หรือ กลุ่มที่รู้จักกันในนามไอซิซ (the Islamic State of
Iraq and al-Sham (ISIS)) ที่ขยายปฏิบัติการในพื้นที่ซีเรียและอิรัก
และกลายเป็นตัวแสดงที่เป็นที่รู้จักกันในเวทีโลก
ในฐานะกลุ่มก่อการร้ายที่มีปฏิบัติการที่โหดเหี้ยม และยังมีงบประมาณหนุนมากที่สุดกลุ่มหนึ่งของโลก
ดาอิชค่อยๆ เติบโตขึ้นท่ามกลางสงครามกลางเมืองในซีเรียที่นับวันจะยิ่งรุนแรงและเหมือนจะหาทางยุติได้ยาก
ไม่ว่าจะเป็นปฏิบัติการที่มาจากรัฐบาลบัชชารของซีเรีย ที่สังหารประชาชนของตนเองไปเป็นจำนวนมาก บวกกับปฏิบัติการของดาอิช ขณะเดียวกัน ยังมีตัวแสดงมหาอำนาจอื่นๆ
ที่เข้ามามีบทบาทในพื้นที่ ทำให้เหตุการณ์ยิ่งมีความซับซ้อนขึ้นไป
สำหรับจุดยืนของตุรกีต่อดาอิช ในช่วงแรก แม้ว่าตุรกีจะไม่แสดงท่าทีที่ชัดเจนในเชิงปฏิบัติการ
แต่ตุรกีนับเป็นประเทศแรกที่ยอมรับสถานะการเป็นผู้ก่อการร้ายสำหรับดาอิช ขณะเดียวกัน
ตุรกีก็ยังเป็นประเทศที่ยอมรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามในซีเรียให้เข้ามาในประเทศมากที่สุด
หลายคนอาจวิพากษ์ว่าตุรกีให้การสนับสนุนกลุ่มดาอิช
ไม่ว่าจะเป็นข้ออ้างของรัสเซีย หรือนักวิเคราะห์จากตะวันตกหลายคน ที่เห็นว่า
ตุรกีอาจมีส่วนช่วยสนับสนุนการปฏิบัติการของดาอิช แต่หากมองในมุมของตุรกีแล้ว
นักวิเคราะห์อีกหลายคน ระบุว่า
เป็นไปได้ยากที่จะเหมารวมว่าจุดยืนของตุรกีนั้นสนับสนุนดาอิช แต่สิ่งที่ตุรกีทำคือ
แสดงบทบาทที่ช้าไป เนื่องจากอาจมองว่าในเวลานั้นดาอิชเป็นกลุ่มที่สามารถรับมือกับกลุ่มเคิร์ดในอิรักและซีเรียได้ ขณะเดียวกันก็ยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะให้ตุรกีเข้าไปเล่นในเกมส์ที่ตุรกีจะต้องเสี่ยงมากที่สุด
เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ที่ใกล้มากกว่า ชาติอื่นๆ ที่เข้าไปแสดงบทบาทในซีเรีย
แต่เมื่อเหตุการณ์เริ่มที่จะกระทบต่อความมั่นคงของตุรกี
ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์เรื่องหลุมฝังศพสุไลมาน ชาห์ ที่เป็นอาณาเขตของตุรกีตามกฎหมายระหว่างประเทศ
ตุรกีจึงเริ่มแสดงสัญญะในการส่งทหารเข้าไป ต่อมาเมื่อเกิดเหตุระเบิดในเมืองดิยาบาคึรและเมืองซูรุชในเขตชาวเคิร์ด
ภายใต้อาณาเขตของตุรกี ทำให้ตุรกีจึงเริ่มปฏิบัติการตอบโต้อย่างจริงจังนับตั้งแต่การยินยอมให้สหรัฐฯใช้ฐานทัพอากาศ İncirlik และ Diyarbakır และหลังจากโดนโจมตีจากดาอิชในเขตจังหวัด Kilis ทำให้ตุรกีเริ่มปฏิบัติการทางทหารต่อดาอิช และเริ่มจับกุมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับดาอิชอย่างจริงจัง
เนื่องจากตุรกีเป็นประเทศที่อยู่ติดกับพื้นที่นี้ จึงแทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกลายเป็นพื้นที่ให้สมาชิกดาอิชใช้ในการเดินทางเข้าสู่ซีเรีย ทำให้ตุรกีกลายเป็นหนึ่งในเป้าหมายของดาอิชได้เช่นกัน
ดาอิชมีปฏิบัติการตอบโต้อีกหลายครั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับชาวเคิร์ดที่เป็นหนึ่งในศัตรูของดาอิชด้วยเช่นกัน
และขณะเดียวกันการเลือกพื้นที่เป้าหมายบางครั้งก็เป็นพื้นที่ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของตุรกีโดยรวม นอกจากนั้นในวารสารของดาอิชที่ชื่อว่า Konstantiniyye
ก็ระบุว่าอิสตันบูลยังเป็นเป้าหมายที่ดาอิชต้องการจะขยายอาณาเขตการปกครอง
เนื่องจากความสำคัญทางบริบททางประวัติศาสตร์และศาสนา
และขณะเดียวกันยังโจมตีรัฐบาลตุรกีที่แม้ตะวันตกจะมองว่ามีแนวคิดแบบอิสลามิสต์แล้วนั้น ว่าเป็นกบฏต่อศาสนา
ในเดือนตุลาคม 2015 เกิดเหตุการณ์ระเบิดขณะที่มีการเดินขบวนเพื่อเรียกร้องสันติภาพ
ในอังการ่า โดยดาอิชรับว่าเป็นปฏิบัติการของดาอิช
ต่อมาเหตุการณ์ที่สุลต่านอะห์เม็ต และ ล่าสุดที่ทักซิม
ก็ล้วนเป็นปฏิบัติการที่มีความเชื่อมโยงกับดาอิช
ความขัดแย้งเติร์ก-เคิร์ด กับ ความรุนแรงระลอกใหม่
หากย้อนกลับไปมองในช่วงเวลามีนาคมปี
2013 ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ที่ตรงกับช่วงเทศกาล Nevruz ซึ่งเป็นเทศกาลเข้าสู่ปีใหม่ของชาวเอเชียกลาง รวมถึงชาวเคิร์ดด้วยเช่นกัน
ในปีนั้น Öcalan หัวหน้ากลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ดได้ออกมาประกาศยุติการใช้กำลังและเริ่มเข้าสู่การพูดคุยสันติภาพ
หากแต่คำประกาศในวันนั้น เดือนมีนาคมปี 2016 กลับกลายเป็นเพียงอดีตเท่านั้น
ความขัดแย้งระหว่างชาวเคิร์ดและชาวเติร์กนั้น
เริ่มเห็นได้ชัดนับตั้งแต่ช่วงสงครามเพื่อปลดตุรกีให้เป็นอิสระ เมื่อสามารถตั้งเป็นสาธารณรัฐตุรกีแล้วนั้น
ในช่วงเวลาแรกกระบวนการสร้างชาติและการสร้างค่านิยมความเป็นเติร์ก
ทำให้ความเป็นอื่นของประเทศถูกกดทับ รวมไปถึงความเป็นเคิร์ดด้วยเช่นกัน
ด้วยความกดดันเช่นนี้และความหวังของการเป็นรัฐอิสระของชาวเคิร์ดที่ถูกแบ่งพื้นที่ซึ่งเดิมคาดว่าจะสร้างเป็นรัฐเคอร์ดิสถานออกไปเป็นส่วนหนึ่งในอิรัก
ซีเรีย และตุรกี รวมถึงบางส่วนในอิหร่าน
ก็ทำให้เป็นปัจจัยหนุนให้เกิดการก่อตั้งกลุ่มติดอาวุธ PKK หรือ Kurdistan
Workers’ Party ขึ้นในปี 1978
แต่เริ่มเห็นปฏิบัติการที่เด่นชัดในปี 1984 และการโต้ตอบกันด้วยความรุนแรงระหว่างตุรกีและชาวเคิร์ดในครั้งแรกนั้นจบลงในปี
1999 แต่ก็กลับมาเกิดอีกครั้ง ในปี 2004 กระทั่งเริ่มรุนแรงขึ้นในปี
2011 จนรัฐบาลตุรกีสามารถจับกุม Öcalan ได้ในปี 2013 และมีการพูดคุยในทางลับต่อกันในช่วงระยะเวลาหนึ่งทำให้ในที่สุด Öcalan ประกาศยุติการใช้กำลังกับรัฐบาลตุรกี และหันมาเข้าสู่การพูดคุยสันติภาพ
นับแต่นั้นกระบวนการสันติภาพจึงเริ่มต้นขึ้น
และดูเหมือนว่าจะมีความหวังมากขึ้นกว่าทุกครั้ง เมื่อรัฐบาลตุรกีเปิดพื้นที่ให้กับชาวเคิร์ดมากขึ้นในหลายด้าน
ภาษาเคิร์ดเริ่มสามารถกลับมาใช้ในพื้นที่สาธารณะได้อีกครั้ง
สื่อและมหาวิทยาลัยที่ใช้ภาษาเคิร์ดก็เริ่มมีขึ้น
แต่ด้วยภาวะการเมืองระหว่างประเทศ
ที่ตุรกีมีพื้นที่ติดกับประเทศสงครามหลายประเทศ โดยเฉพาะในอิรักและซีเรีย ทำให้กลายเป็นจุดเริ่มต้นนำมาสู่ความรุนแรงระลอกใหม่อีกครั้ง
ในเดือนตุลาคม 2014 เริ่มมีกระแสการประท้วงที่ตุรกีไม่เข้าช่วยเหลือชาวเคิร์ดใน
Kobani ของซีเรีย
ซึ่งนำไปสู่การประท้วงที่มีคนเสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม อย่างไรก็ตาม
ความตึงเครียดก็มีเรื่อยมา โดยตลอดระยะเวลากลุ่มติดอาวุธ YPG
ของชาวเคิร์ดในซีเรียและพรรคชาวเคิร์ด HDP ต่างก็อ้างว่ารัฐบาลยอมให้ดาอิชเข้าทำร้ายเคิร์ดใน Kobani
เหตุการณ์เริ่มมาถึงจุดตึงเครียดที่สุดเมื่อเกิดเหตุการณ์ระเบิดในเมืองซูรูช
ขณะที่มีการทำกิจกรรมของนักเคลื่อนไหวชาวเคิร์ด
ซึ่งมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก
ต่อมาในช่วงปฏิบัติการทางอากาศเพื่อต้านไอซิซในซีเรียและ PKK ในอิรักตอนเหนือ (Şehit
Yalçın Operasyonu) ก็กลายเป็นเหตุผลที่ทำให้ในเดือนกรกฎาคม
2015 PKK ยกเลิกการหยุดยิง และเริ่มต้นช่วงของการใช้ความรุนแรงระลอกใหม่
ส่งผลให้มีผู้ได้รับผลกระทบทั้งต่อชีวิต และ เศรษฐกิจของพื้นที่เป็นจำนวนมาก
โดยเหตุการณ์ส่วนใหญ่จะเกิดในบริเวณแถบพื้นที่ชาวเคิร์ด คือ
ทางตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกี
ซึ่งผู้ได้รับผลกระทบนี้ก็มีทั้งฝ่ายรัฐบาลตุรกีเองและฝ่ายกลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ด
รวมถึงประชาชนทั่วไปด้วยเช่นกัน
เหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างทั้งสองฝ่าย ขยายตัวเข้าสู่พื้นที่หลักอื่นของประเทศ
เพื่อตอบโต้รัฐบาลด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ระเบิดในเขตพื้นที่กองทัพอังการ่าในเดือนกุมภาพันธ์
และในเดือนมีนาคม 2016 อังการ่าก็เผชิญกับระเบิดครั้งใหญ่อีกครั้ง เหตุการณ์ทั้งสองครั้งนี้กลุ่ม
TAK (Kurdistan Freedom Hawks) ซึ่งเป็นปีกหนึ่งของกลุ่มติดอาวุธ PKK รับว่าเป็นปฏิบัติการของกลุ่มตน
แม้ว่าการเริ่มต้นการหยุดยิงครั้งใหม่นี้จะใช้ข้ออ้างของการที่รัฐบาลตุรกีใช้กำลังต่อเคิร์ดในอิรัก
แต่การวิเคราะห์หลายฝ่ายก็เห็นว่า กลุ่ม PKK เห็นว่าเป็นโอกาสเหมาะที่จะสามารถรวมอาณาเขตของเคอร์ดิสถานได้อีกครั้ง
หลังจากที่กลุ่มติดอาวุธเคิร์ดในอิรักและซีเรียสามารถใช้โอกาสช่องว่างทางอำนาจในสงครามซีเรียเพื่อสถาปนาอำนาจของเคิร์ดในพื้นที่ได้สำเร็จ
จึงทำให้มีความคิดที่จะนำเอาพื้นที่ส่วนใหญ่ของตนที่อยู่ในตุรกีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเคอร์ดิสถานนี้ให้ได้
ความรุนแรงระลอกใหม่ในครั้งนี้ ทำให้รัฐบาลตุรกีถูกวิพากษ์จากหน่วยงานที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนอยู่หลายครั้งด้วยกัน
ว่าการใช้ปฏิบัติการทางอาวุธนั้นส่งผลให้ประชาชนทั่วไปอาจได้รับผลกระทบด้วย
ขณะเดียวกัน มีกลุ่มนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวชาวเคิร์ด
ที่ไม่พอใจการทำงานของรัฐบาลที่มีอุดมการณ์ต่างจากตน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสายคิดแนวเสรีนิยมและแนวคิดนิยมฝ่ายซ้าย
ก็ออกมาวิพากษ์การใช้กำลังของรัฐบาลด้วยเช่นกัน หลายคนระบุว่า
การใช้กำลังของรัฐบาลเป็นผลจากการเสียคะแนนจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2015 ที่เสียงของพรรค HDP ซึ่งเป็นพรรคของชาวเคิร์ดนั้นได้รับเสียงจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของเขตที่มีชาวเคิร์ดอาศัยอยู่
อย่างไรก็ตามผลการเลือกตั้งครั้งนั้นก็ต้องเป็นอันโมฆะ
เนื่องจากไม่สามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ จนทำให้นำไปสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่
ที่เสียงของพรรค AK ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลเดิมกลับมาอีกครั้ง หลังจากที่ในช่วงก่อนหน้าการเลือกตั้งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ความตึงเครียดประเด็นปัญหาเคิร์ดกลับมาอีกครั้ง
ทำให้การตอบสนองต่อเหตุการณ์ของพรรค HDP กลายเป็นจุดที่ถูกมองว่าสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธ ขณะเดียวกัน การใช้กำลังเพื่อตอบโต้ของรัฐบาล
หลายคนจึงมองว่าอาจเป็นกลยุทธ์ทางการเมืองที่รัฐบาลต้องการได้เสียงจากกลุ่มชาตินิยมตุรกีด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม
สำหรับรัฐบาลตุรกี มีจุดยืนที่ชัดเจนต่อการใช้กำลังต่อกลุ่ม PKK เนื่องจากการใช้กำลังของ PKK หลายครั้งที่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มคนส่วนมาก
และสำหรับการเริ่มต้นการใช้กำลังในครั้งนี้ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า
PKK เป็นฝ่ายที่เริ่มการใช้กำลังก่อน ตลอดจนเป้าหมายของ PKK ก็เป็นไปแบบชัดเจนที่จะต้องการแบ่งแยกดินแดนเพื่อสร้างเคอร์ดิสถาน ฉะนั้น
จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นพรรคใดก็ตาม
ที่จะต้องรักษาความมั่นคงของชาติและรักษาเกียรติ ศักดิ์ศรี ของชาติไปพร้อมกัน
ปฏิบัติการเพื่อตอบโต้จึงต้องมี แต่อย่างไรก็ตามในอีกด้านหนึ่ง พื้นที่ทางอัตลักษณ์ของชาวเคิร์ดที่ถูกเปิดไปก็ยังคงดำเนินต่อไป
แต่การปราบปรามกลุ่มติดอาวุธก็จำเป็นต้องเป็นไปด้วยเช่นกัน
ความมั่นคงของตุรกีและภูมิภาควันนี้
แม้ว่าหากมองในการใช้ชีวิตประจำวันทั่วไปแล้ว
ชาวตุรกียังคงใช้ชีวิตอย่างปกติ
เพียงแต่หลีกเลี่ยงในการไปในสถานที่ที่ค่อนข้างเป็นที่คาดเดาได้
ในช่วงวันที่คาดเดาได้ ว่าจะเกิดเหตุการณ์ เนื่องจากพื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์หลักๆ
ก็มักจะเป็นพื้นที่ที่เกิดขึ้นซ้ำๆกัน แต่ภาวะความไม่มั่นใจก็ยังคงเกิดขึ้นกับประชาชนอยู่บ้าง
จึงจำเป็นที่ตุรกีจะต้องหาแนวทางรับมือ
ไม่ว่าจะความขัดแย้งระหว่างดาอิชหรือ
PKK ก็ล้วนแล้วแต่ส่งผลมาจากการเมืองในภูมิภาคที่ทำให้ตุรกีเองแทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีส่วนต่อเกมส์การเมืองสามเส้านี้
ความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีกับสองตัวแสดงนี้ ล้วนแล้วแต่มีส่วนเกี่ยวข้องและส่งผลต่อกัน
แม้ว่าสำหรับ PKK จะเป็นผลจากการเมืองในประเทศด้วยก็ตาม แต่ปัจจัยหลักสำคัญที่ทำให้กระบวนการสันติภาพล่าสุดสิ้นสุดลง
ก็เป็นผลจากการเมืองในซีเรียและอิรักอย่างเห็นได้ชัด
จึงนับได้ว่าปัจจุบัน ตุรกีจึงกำลังเผชิญกับความท้าทายความมั่นคงของประเทศที่มาจากตัวแสดงติดอาวุธถึงสองกลุ่มใหญ่
ซึ่งถือเป็นภาวะเสี่ยงที่ตุรกีจำเป็นต้องหาแนวทางรับมือและก้าวพ้นไปให้ได้
สำหรับปัญหา PKK เป็นการตกลงภายใน
ที่จะต้องรีบหาทางให้กลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ดยอมที่จะหันเข้าสู่กระบวนการเจรจาอีกครั้ง
มิฉะนั้นก็จะส่งผลกระทบต่อทั้งภาพลักษณ์ในด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประเทศและจะกระทบต่อชีวิตและเศรษฐกิจของประชาชนในพื้นที่ด้วยเช่นกัน
และปัญหาดาอิช ก็นับได้ว่าเป็นปัญหาร่วมของโลก
ที่ตัวแสดงหลักจำเป็นต้องหาทางร่วมมือกันเพื่อรับมืออย่างจริงจัง
อย่างไรก็ตาม ด้วยภาวะเช่นนี้ จึงจะเห็นว่า
ตุรกีเริ่มจะหันไปมีความสัมพันธ์กับอิหร่านมากขึ้น
และหาแนวทางปรับความสัมพันธ์กับรัสเซีย
ที่เริ่มถอยออกมาจากสงครามกลางเมืองในซีเรีย
รวมถึงยังคงรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับชาติอาหรับและสหภาพยุโรป รวมถึงสหรัฐอเมริกา
ด้วยเช่นกัน
เนื่องจากการสร้างความสัมพันธ์ลักษณะนี้จะทำให้เป็นภูมิคุ้มกันความมั่นคงของประเทศได้มากขึ้น
แม้ว่าตุรกีจะยังคงถูกตั้งคำถามกับหลายประการจากตะวันตกโดยเฉพาะ
ในประเด็นที่รัฐบาลพรรคอัคที่มีแนวคิดเน้นแนวทางอิสลามเข้าปกครองต่อเนื่องยาวนาน 13 ปี
ในภาวะเช่นนี้
ประกอบกับการถูกวิพากษ์ของรัฐบาลในประเด็นภายในอื่นๆ เอง จึงเป็นที่น่าติดตามว่า
ตุรกีจะรับมืออย่างไร จะสามารถก้าวผ่านไปได้เหมือนที่ผ่านๆมาหรือไม่ เหตุการณ์ความไม่มั่นคงนี้จะกระทบต่อการพัฒนาและเศรษฐกิจของประเทศหรือไม่
ตุรกีจะสร้างความมั่นใจให้กลับมาสู่ประเทศได้อย่างไร แต่สิ่งที่สำคัญทีสุดที่อาจเป็นคำถามของเวทีโลกทุกประเทศคือ
ในวันนี้ จะทำอย่างไรก็ปัญหาสงครามกลางเมืองในซีเรีย
ที่เป็นเหตุของปัญหาที่กระทบไปในหลายประเทศแล้ว