วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ความขัดแย้งตุรกี-ไอซิส: กรกฎาคม 2015 กับภาวะตึงเครียด ณ ชายแดน


ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา นับตั้งแต่การประกาศก่อตั้ง Islamic State of Iraq and Greater Syria หรือ ISIS  ขึ้นมา ก็มีข้อสงสัยมากมายจากหลายฝ่ายต่อองค์กรนี้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เห็นชัดคือ การปฏิบัติการที่สร้างความกลัวให้เกิดทั่วโลก ด้วยการยกเอาศาสนามาเป็นข้ออ้างในการก่อความรุนแรง ซึ่งก่อนหน้านี้มีหลายฝ่ายพยายามเชื่อมโยงว่าตุรกีมีความสัมพันธ์ที่ดีและอาจช่วยเหลือกลุ่มไอซิส เนื่องจากเห็นว่าตุรกีแสดงจุดยืนคัดค้านบัชชารและให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ชาวซีเรียที่ได้รับผลกระทบจากกลุ่มของบัชชารมาอย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่าข้อกล่าวหานี้ได้รับการปฏิเสธจากรัฐบาลตุรกีในการแสดงจุดยืนต่อต้านการก่อการร้ายทุกรูปแบบเสมอมา แม้ว่ามีข้อมูลที่ชัดเจนสิ่งหนึ่งว่า ตุรกีเป็นจุดเชื่อมต่อของผู้ที่ต้องการเดินทางเข้าสู่ซีเรียเพื่อร่วมกับไอซิซ  อย่างไรก็ดี ด้วยกับภูมิรัฐศาสตร์ที่อยู่ใกล้เคียงทำให้หากปฏิบัติการใดลงไปแล้วก็จะเกิดความเสี่ยงต่อการถูกโจมตี หรือ การเผชิญหน้ากันด้วยความรุนแรง การดำเนินนโยบายของตุรกีต่อไอซิสนั้นจึงต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวัง  ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลตุรกีเองก็เริ่มมีนโยบายในการต่อต้านไอซิสชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะการปิดเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับไอซิสทั้งหมด ขณะเดียวกันไอซิสเองก็โจมตีรัฐบาลตุรกี ผ่านสื่อนิตยสารของกลุ่ม โดยระบุว่ารัฐบาลตุรกีนั้นให้ความช่วยเหลือกับเคิร์ดและมีแนวทางในแบบตะวันตก
แม้ว่าตลอดช่วงเวลาที่เกิดความไม่สงบในซีเรียก็มีความตึงเครียดกัน ณ บริเวณชายแดนอยู่ตลอดมา แต่เหตุการณ์เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ในกรณีสุสานสุไลมานชาห์ นับเป็นครั้งแรกที่ตุรกีเริ่มแสดงทีท่าอย่างชัดเจนในการต้านไอซิส เมื่อสุสานที่มีธงชาติตุรกีปักอยู่ ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่อาณาเขตหนึ่งของตุรกีที่อยู่ในพื้นที่ซีเรีย ได้มีความเสี่ยงต่อการคุกคาม ทำให้ตุรกีตัดสินใจเคลื่อนทหารเข้าไปปฏิบัติการเคลื่อนย้ายสุสานนี้ออกมาให้อยู่ใกล้กับเขตแดนของตุรกีมากขึ้นเพื่อความสะดวกต่อการดูแล
ความสัมพันธ์อันซับซ้อนนี้มีตัวแสดงสำคัญอีกหนึ่งกลุ่มที่เกี่ยวข้อง ก็คือ ชาวเคิร์ด ซึ่งชาวเคิร์ดในเมืองโคบานี่ของซีเรีย ได้ปฏิบัติการทางทหารและยึดพื้นที่ปกครองกับกลุ่มไอซิส นับตั้งแต่ปีที่แล้วเป็นต้นมา ในหลายครั้ง กระทั่งทำให้เคิร์ดในตุรกีเองก็เรียกร้องให้รัฐบาลตุรกีสนับสนุนเคิร์ดในโคบานี่ในการต่อสู้กับไอซิส ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการสร้างความเชื่อมั่นของเคิร์ดต่อความจริงใจของรัฐบาลตุรกีในกระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินไประหว่างตุรกี กับกลุ่ม PKK ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธเคิร์ดในตุรกี อย่างไรก็ดี ตุรกีเองก็ไม่ได้แสดงท่าทีที่ชัดนักในช่วงเวลานั้น

การปะทุของความขัดแย้งกรกฎาคม 2015
ความขัดแย้งกรกฎาคม 2015 นี้เกิดขึ้นที่เมือง Suruç ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเขตแดนตุรกี-ซีเรีย ในระหว่างการรวมตัวกันประท้วงของกลุ่มชาวเคิร์ดและกลุ่มฝ่ายซ้าย ที่ Amara Cultural Park ก็มีการระเบิดฆ่าตัวตายขึ้น ส่งผลให้มีคนเสียชีวิตอย่างน้อย 30 คน และมีผู้บาดเจ็บกว่า 100 คน ต่อมาทางการตุรกีได้ระบุผู้ที่ก่อการว่าเป็นชาวเคิร์ดคนหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับไอซิส ชื่อว่า Seyh Abdurrahman Alagoz


หลังจากเกิดเหตุการณ์ครั้งนี้ ชาวเคิร์ดทั่วประเทศไม่พอใจและออกมาประท้วงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ดก็ได้ฆ่าเจ้าหน้าที่ตำรวจชาวตุรกีสองคน เพื่อเป็นการล้างแค้นในกรณี ซึ่งชาวเคิร์ดมองว่าเป็นเพราะความผิดของรัฐบาลที่ไม่ยอมช่วยเหลือชาวเคิร์ดในโคบานี่เพื่อต่อต้านไอซิส ขณะเดียวกัน พรรค HDP ซึ่งได้รับเสียงจากชาวเคิร์ดในการเลือกตั้งที่ผ่านมาก็ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการบางอย่างต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แน่นอนว่าหลังจากเหตุการณ์ ประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาประณามการก่อการร้ายครั้งนี้ทันที
ขณะเดียวกัน ในบริเวณชายแดนก็เกิดความตึงเครียดมากยิ่งขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่ทหารตุรกีหนึ่งคนได้เสียชีวิต และอีกสองคนได้รับบาดเจ็บระหว่างการปะทะกันในเมือง Kilis ของซีเรีย



หลังจากนั้น มีข่าวที่ระบุถึงการเจรจากันระหว่างโอบามาและประธานาธิบดีแอรโดก์อาน สืบเนื่องจาก ข้อเสนอในการใช้พื้นที่ของตุรกีเป็นฐานทัพทางอากาศในการส่งกองกำลังเข้าไปปราบปรามไอซิสสหรัฐฯมองว่าเป็นภัยคุกคามโลก อย่างไรก็ตามตุรกีได้ไม่ให้คำตอบใดๆ ในระยะเวลาที่ผ่านมา จนในครั้งนี้ ตุรกีได้ยอมที่จะให้ฐานทัพบริเวณ Incırlık ให้แก่สหรัฐฯ หากจะใช้ปฏิบัติการหากแต่ต้องให้ตุรกีได้รับรู้และมีสิทธิคัดค้านในปฏิบัติการ



ในส่วนของตุรกีเอง ได้แสดงท่าที่คัดค้านที่ชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุที่ต้องการหยุดกระแสความโกรธของชาวเคิร์ด หรือ การปฏิบัติการเพื่อหยุดภัยคุกคามต่อความมั่นคงของตุรกี เอง ทางรัฐบาลตุรกีได้ออกปฏิบัติการจับกุมผู้ที่มีหลักฐานว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย 251 คน ไม่ว่าเป็นกลุ่ม ISIS กลุ่ม PKK (the Kurdistan Workers Party) และกลุ่ม DHPK-C (the Revolutionary People's Liberation Party-Front) ที่กระจายไปทั่วทั้งตุรกี ขณะเดียวกันก็ได้ปฏิบัติการทางอากาศจากฐานทัพอากาศ Dıyarbakır ไปสู่ซีเรีย ซึ่งส่งผลให้มีสมาชิกไอซิสเสียชีวิตอย่างน้อย 35 คน

สิ่งที่น่าสนใจของเหตุการณ์ครั้งนี้

สิ่งที่น่าสนใจจากกรณี คือ ท่าทีของตุรกีที่แข็งกร้าวขึ้นต่อไอซิส และการยินยอมให้สหรัฐ เข้ามาในครั้งนี้จะทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศตุรกีในฐานะประเทศที่กำลังก้าวเป็นผู้นำของประเทศมุสลิมต้องสั่นคลอนหรือไม่ อย่างไรก็ดี หากวิเคราะห์บนฐานการมองแบบสัจจนิยมแบบใหม่แล้ว การปฏิบัติการของตุรกีต่อไอซิสเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ว่าจะต้องเกิดขึ้น เนื่องจากอยู่ในเขตชายแดนใกล้เคียงและถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อประเทศ การยอมให้สหรัฐฯเข้ามาก็ถือได้ว่าหาผู้ปฏิบัติการร่วม ที่ตุรกีเองก็ไม่ต้องการจะติดอยู่กับสงครามนี้นานจนเกินไปและต้องสูญเสียกำลังทางทหารของตนเองมากเกินไป แม้ว่าหากพิจารณาถึงศักยภาพทางทหารที่ตุรกีติดอยู่ในอันดับที่ ของโลกแล้วก็สามารถดำเนินการได้เอง ขณะเดียวกันในปฏิบัติการครั้งนี้ก็อาจเป็นการแสดงจุดยืนทางภาพลักษณ์ที่ตุรกีถูกกล่าวหาว่าให้การสนับสนุนกลุ่มไอซิส ตลอดจนแสดงความจริงใจของชาวเคิร์ดในฐานะที่เป็นพลเมืองของรัฐเช่นเดียวกันซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อกระบวนการสันติภาพเติร์ก-เคิร์ด แม้ว่าการจับกุมกลุ่ม PKK ก็อาจส่งผลต่อความไม่พอใจได้ แต่เพื่อระงับความรุนแรงภายในที่เกิดขึ้นและมีความเสี่ยงจะเกิดขึ้นจึงต้องจับกุมกลุ่มติดอาวุธในทุกฝ่ายในประเทศอย่างเท่าเทียม ตลอดจนเพื่อคุมอำนาจของกลุ่ม PKK ที่เริ่มกลับมาใช้กำลังมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นการแสดงศักยภาพทางทหารของตุรกีเองให้กับอิหร่านที่เริ่มมีอิทธิพลในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น

สิ่งที่น่าติดตามต่อไปก็คือ ท่าทีของกลุ่มติดอาวุธต่างๆ โดยเฉพาะ PKK และ ไอซิส ที่จะมีต่อตุรกีหลังจากนี้ รวมไปถึงท่าทีของสหรัฐฯ ที่จะเข้ามามีบทบาทต่อกรณีไอซิสนี้อย่างไร




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น