ยาสมิน ซัตตาร์
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
ประเด็นเรื่องราวตุรกีอาจมีความน่าสนใจมากขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะจากการเผชิญกับความรุนแรงที่มาจากการก่อการร้ายจากรอบด้าน
ซึ่งในรอบ 7 เดือนที่ผ่านมา
มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นในอิสตันบูลเมืองเดียวถึง 6 ครั้ง และครั้งล่าสุด จากการยิงกราดและระเบิด ณ สนามบินนานาชาติอตาเติร์ก
เมื่อค่ำวันที่ 28 มิถุนายน 2559 นับได้ว่าส่งผลสะเทือนมากที่สุด เนื่องจากมีจำนวนผู้ได้รับผลเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก โดยครั้งนี้เป็นอีกครั้งที่ตุรกีต้องเผชิญกับการก่อการร้ายจากกลุ่มดาอิช
ซึ่งนายกรัฐมนตรีตุรกีออกมาระบุว่าเป็นผู้กระทำการครั้งนี้ หลังจากนั้นก็มีการเปิดเผยสัญชาติของผู้ก่อการว่าเป็นชาวรัสเซีย
ชาวอุซเบกิสถาน และชาวคีกีซสถาน จากเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นอีกครั้งที่ประชาคมโลกต่างตั้งคำถามต่อปฏิกิริยาที่มีต่อเหตุการณ์รุนแรงที่ไม่เท่าเทียมกันกับกรณีความรุนแรงในปารีส
หรือ บรัสเซล อย่างไรก็ตามหลังจากเหตุการณ์มีการไว้อาลัยจากหลายประเทศที่ส่งเสียงให้กับตุรกี
สถานที่สำคัญๆหลายแห่งในโลกได้แสดงสัญญะธงชาติตุรกี
คำถามที่สำคัญคือ ตอนนี้ตุรกีกำลังเผชิญกับอะไร
เหตุใดตุรกีซึ่งในช่วงสิบปีที่ผ่านมาสามารถก้าวมาสู่จุดที่สำคัญของโลกและภูมิภาคต้องมาสะดุดลง
ในบทความชิ้นที่แล้วผู้เขียนได้วิเคราะห์ไว้บ้างแล้ว
เพื่อให้เห็นภาพรวมของการเมืองตุรกีในวันนี้
หากแต่ในห้วงเดือนที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านของการเมืองระหว่างประเทศตุรกีที่มีผลจากการเมืองภายในประเทศเองอย่างมีนัยยะสำคัญหลายประการ
นับตั้งแต่หลังจากการลาออกของอดีตนายกรัฐมนตรีดาวุดโอก์ลู
และได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ขึ้นมาแทนที่ ที่เป็นสัญญาณของความอ่อนในระบบรัฐสภาของตุรกี
และเริ่มปูทางสู่การเปลี่ยนประเทศไปสู่ระบอบประธานาธิบดี
การเปลี่ยนผ่านของการเมืองภายในเช่นนี้
ยิ่งตอกย้ำการใช้อำนาจของประธานาธิบดีแอรโดอานที่ถูกตั้งคำถามมากขึ้น
ขณะเดียวกันการเมืองภายในของตุรกียังต้องเผชิญกับความรุนแรงที่มาจากกลุ่มติดอาวุธ PKK ของชาวเคิร์ดซึ่งกลับเข้าสู่ภาวะของการใช้ความรุนแรงอีกครั้งหลังจากที่กระบวนการสันติภาพถูกทำลายลง
ในช่วงที่ผ่านมา
ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและตุรกีที่กลายเป็นศัตรูหลังจากเป็นมิตรทางการค้าที่สำคัญหลังจากที่ตุรกียิงเครื่องบินรัสเซียตกก็ส่งผลกระทบต่อการค้าและการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศ
แน่นอนว่าเป็นผลให้ตุรกีต้องเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกันความรุนแรงในซีเรียและอิรัก
และการเกิดขึ้นรวมถึงการตอบสนองของตุรกีต่อดาอิชในช่วงที่ผ่านมาก็เป็นที่ตั้งคำถาม
ภาวะที่ตุรกีเผชิญในช่วงปีที่ผ่านมานั้นคือ ความอิหลักอิเหลื่อของสถานะที่ตุรกียืนในเวทีภูมิภาค
ขณะเดียวกันยังเป็นความย้อนแย้งของการแนวคิด Strategic Depth ของตุรกีที่มองว่าตุรกีควรปราศจากปัญหากับเพื่อนบ้าน
และใช้จุดยุทธศาสตร์ของตัวเองให้เกิดประโยชน์
แต่เมื่อสถานการณ์การเมืองในภูมิภาคเปลี่ยนแนวคิดและปัจจัยดังกล่าว
กลับกลายเป็นเครื่องมือทิ่มแทงตุรกีเสียเอง
อย่างไรก็ตาม ในห้วงเดือนที่ผ่านมา
มีความพยายามสำคัญ ที่น่าสนใจในจุดยืนของตุรกีในเวทีระหว่างประเทศคือ
ตุรกีเริ่มพยายามปรับจุดยืนและยุทธศาสตร์ความสัมพันธ์กับหลายประเทศให้กลับไปเป็นแบบเดิม
นั่นคือ การร่วมมือเชิงสร้างสรรค์กับเวทีโลก
จากที่ช่วงหนึ่งตุรกีถูกสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกบีบให้ต้องแสดงบทบาทโดดเดี่ยวจากหลายประเทศ
ตุรกีเริ่มมีความพยายามมากขึ้นกับกรณีการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปและแลกเปลี่ยนประเด็นการเปิดวีซ่าฟรีสำหรับชาวตุรกีในการเดินทางเข้าประเทศในอียูกับประเด็นผู้ลี้ภัย
แต่อย่างไรก็ตามก็ยังคงอยู่ในจุดที่ไม่สามารถบรรลุผลได้เนื่องด้วยปัญหาของมาตรฐานที่ไม่ตรงกับที่สหภาพยุโรปต้องการ
ซึ่งประธานาธิบดีตุรกีเองก็ระบุว่าเป็นเงื่อนไขที่สถานะและจุดที่ตุรกีอยู่ไม่อาจทำได้
ฉะนั้นแล้ว
ตุรกีเองก็เริ่มกลับสู่การสร้างความสัมพันธ์กับอียูอย่างสร้างสรรค์อีกครั้ง
ขณะเดียวกัน ตุรกีเองก็เริ่มกลับมาปรับความสัมพันธ์กับสองประเทศที่มีปัญหาต่อกันมากที่สุด
นั่นคือ อิสราเอลและรัสเซีย
สำหรับกรณีอิสราเอลนั้น
ตุรกีลดระดับความสัมพันธ์นับตั้งแต่หลังจากเรือช่วยเหลือทางมนุษยธรรมของตุรกีถูกยิงและมีนักเคลื่อนไหวชาวตุรกีเสียชีวิต
แต่ตุรกีกลับมาค่อยๆ ปรับความสัมพันธ์อีกครั้ง
เนื่องจากมองว่าจะเป็นหนทางหนึ่งที่สามารถเอื้อต่อกันในเชิงเศรษฐกิจและเปิดช่องให้ตุรกีเข้าไปมีส่วนในการช่วยเหลือชาวปาเลสไตน์ได้ง่ายขึ้น
โดยการปรับความสัมพันธ์ในครั้งนี้อยู่บนฐานของเงื่อนไขสามข้อที่อิสราเอลตกลง
คือการขอโทษต่อตุรกี การจ่ายเงินชดเชยให้กับครอบครัวของเหยื่อผู้ได้รับผลกระทบและการอนุญาตให้ตุรกีส่งความช่วยเหลือเข้าไปในกาซ่าผ่านด่าน
Ashdod แต่การปรับความสัมพันธ์นี้ก็สร้างความไม่พอใจให้กับหลายฝ่ายในตุรกี
โดยเฉพาะกลุ่มองค์กรเคลื่อนไหวเพื่อช่วยเหลือสิทธิมนุษยชนที่ใหญ่ที่สุดในตุรกี นั่นคือ IHH แต่ก็หลายฝ่ายในองค์กรเองก็เข้าใจในเป้าประสงค์ของรัฐบาลเอง
สำหรับกรณีของรัสเซียนั้น
หลังจากที่ยิงเครื่องบินรัสเซียตกนั้น
ตุรกีซึ่งคาดการณ์ว่าจะได้รับการสนับสนุนจากนาโต้กลับถูกโดดเดี่ยวให้เผชิญกับผลลัพธ์เอง
ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจตุรกีเป็นอย่างมาก กระทั่งประธานาธิบดีแอรโดอานยอมออกมาขอโทษ
และปูตินเองก็ขอโทษกลับมา ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อการปรับความสัมพันธ์
หลังจากการขอโทษนั้นก็ทำให้การตกลงทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาอีกครั้ง
และปูตินก็ประกาศยกเลิกการห้ามชาวรัสเซียเข้ามาท่องเที่ยวในตุรกี
รวมถึงแผนการพบปะระหว่างรัฐมนตรีระหว่างประเทศของทั้งสองประเทศก็กลับมามีขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
ขณะเดียวกันนั้น ตุรกียังขยายความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ขณะที่คงความสัมพันธ์ที่ขยายตัวมากขึ้นกับภูมิภาคแอฟริกาในช่วงตุรกีมีความสัมพันธ์ห่างเหินกับรัสเซียเอาไว้
รวมถึงรักษาความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศบอลข่านและอิหร่านไว้
ฉะนั้นแล้ว
ในแง่ยุทธศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ อาจกล่าวได้ว่า
ตุรกีเริ่มหันกลับไปใช้แนวทางเดิมในการสร้างความสัมพันธ์เชิงรุกแบบสร้างสรรค์กับนานาประเทศอีกครั้ง
แม้ว่าจะมีข้อวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่ไม่พอใจกับแอรโดอาน
ฝ่ายที่ไม่พอใจกับนโยบายแบบใหม่ ฝ่ายที่ไม่พอใจกับท่าทีของตุรกีที่ดูเหมือนจะเป็นที่ยอมรับและประสบความสำเร็จในเชิงเศรษฐกิจมากขึ้น
ฝ่ายที่ไม่พอใจกับรัฐบาลแนวทางอิสลาม
ฝ่ายที่ไม่พอใจกับการตอบโต้ด้วยความรุนแรงต่อชาวเคิร์ด หรือฝ่ายที่ไม่พอใจต่อการดำเนินนโยบายแบบระมัดระวังในกรณีดาอิชก็ตาม
แต่ข้อท้าทายเหล่านี้เป็นสิ่งที่ตุรกีจำเป็นต้องเผชิญแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ และตุรกีจำเป็นต้องสร้างความมั่นใจกลับมา
ไม่ว่าจะต่อประชาชนในประเทศเอง หรือนานาประเทศ
ว่าตุรกีมีความสามารถเพียงพอที่จะก้าวข้ามข้อท้าทายเหล่านี้
หนึ่งในแนวทางประกาศความสามารถของตุรกีเอง ก็คือการเลื่อนการเปิดสะพานข้ามทวีปแห่งที่สามให้หลังจากเกิดเหตุการณ์สองวัน
ซึ่งอาจสะท้อนสัญญะเล็กๆ
ของศักยภาพตุรกีที่แม้เผชิญกับข้อท้าทายมากมายแต่ยังสามารถพัฒนาประเทศต่อไปได้นั่นเอง
หากประเมินแบบทั่วไปแล้ว ก็อาจมองได้ว่า
ภายหลังจากนี้ ตุรกีอาจกลับเข้าสู่รูปแบบการดำเนินนโยบายลักษณะเดียวกับก่อนเกิดเหตุการณ์ท้าทายต่างๆ
ซึ่งหมายรวมถึงการรื้อฟื้นกระบวนการสันติภาพต่อเคิร์ดขึ้นมาใหม่
เพื่อไม่ให้ตุรกีเผชิญกับศัตรูจากภายในเอง
ขณะเดียวกันก็อาจเห็นแนวทางการดำเนินต่อดาอิชที่ชัดเจนขึ้น รวมถึงการวางยุทธศาสตร์เรื่องผู้ลี้ภัยใหม่ที่เป็นระบบขึ้น
อย่างไรก็ตามหากมีข้อท้าทายใหม่ๆ ในภูมิภาคโดยเฉพาะต่อเหตุการณ์ในซีเรีย
ก็อาจส่งผลให้สถานะของตุรกีก็จะมีความเปราะบางเช่นนี้ต่อไปได้
แต่หากมองในเชิงเศรษฐกิจ
จากความพยายามที่ผ่านมาและปรับความสัมพันธ์กับประเทศคู่ค้าสำคัญแล้วนั้น
ก็จะช่วยเสริมฐานเศรษฐกิจของประเทศให้เข้มแข็งได้ ฉะนั้นแล้วการคาดการณ์ว่าบริบทของตุรกีจะเป็นเฉกเช่นเดียวกับประเทศตะวันออกกลางหลายๆ
ประเทศนั้น อาจต้องมีปัจจัยเสริมที่มากกว่านี้
หากพิจารณาเพียงแค่สถานการณ์ปัจจุบันก็อาจกล่าวได้ว่า ยังคงยากที่จะไปสู่จุดเดียวกันนั้น